การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีบุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินฐานผิดสัญญาหรือฐานละเมิด


     กรณีบุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินไม่ว่าจะเป็นการฟ้องในฐานผิดสัญญาหรือฐานละเมิดก็ตาม จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ อย่างไรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็น เรื่องเสร็จที่ 757/2552 ดังนี้

     1.กรณีบุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินในฐานละเมิด (เช่นฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก) ผู้มีอำนาจจะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามข้อ 35 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกหรือไม่

     เนื่องจากระเบียบดังกล่าว มีเจตนารมณ์ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้น ทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแล้วเสนอความเห็นต่อผู้แต่งตั้งเพื่อพิจารณาตัดสินใจในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ว่าความเสียหายตามที่บุคคลภายนอกกล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ในกรณีที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการตามข้อ 36 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความในคดี แต่ในกรณีที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการตามข้อ 37 เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสพ้นจากการเป็นคู่ความในคดี

     2.กรณีบุคคลภายนอกฟ้องคดีเรียกให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชดใช้เงินในฐานผิดสัญญาและศาลได้มีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐจ่ายค่าเสียหายตามสัญญาแล้ว หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีเหตุอันควรเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ก็อาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามข้อ 8 ได้ โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน เพื่อทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงให้ทราบว่ามีการกระทำละเมิดหรือไม่ การกระทำละเมิดได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด

อ้างอิง
- ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 757/2552 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

   ข้อ 8 "เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่งโดยไม่ชักช้า เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้..."
   ข้อ 35 "ในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาล ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตั้งคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้มีการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้แล้ว และให้ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเตรียมการต่อสู้คดีต่อไป พร้อมทั้งรายงานให้กระทรวงการคลังทราบและปฏิบัติตามที่ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงการคลัง"
   ข้อ 36 "ถ้าผู้แต่งตั้งเห็นว่าความเสียหายเกิดจากเจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ หรือเมื่อได้ฟังความเห็นของคณะกรรมการหรือได้รับทราบผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังแล้ว เห็นว่าความเสียหายจากเจ้าหน้าที่มิได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย"
   ข้อ 37 "ถ้าผลการพิจารณาของผู้แต่งตั้งยุติเป็นที่สุดว่า ความเสียหายเกิดจากเจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องไม่มีการเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นคู่ความในคดี แต่ถ้าผู้เสียหายได้ฟ้องเจ้าหน้าที่ต่อศาลก่อนแล้วหรือมีการเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นคู่ความในคดีก่อนแล้ว ให้ผู้แต่งตั้งแจ้งผลการพิจารณาให้พนักงานอัยการเพื่อแถลงต่อศาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสพ้นจากการเป็นคู่ความในคดี และขอให้พนักงานอัยการช่วยเหลือทางคดีแก่เจ้าหน้าที่ในระหว่างนั้นด้วย"
#นักเรียนกฎหมาย
23 มิถุนายน 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)