8 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับรายงานละเมิดที่ไม่ต้องส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ


เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2563 นักเรียนกฎหมาย.com ได้สรุปสาระสำคัญของ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้รับความสนใจและมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้จึงได้รวบรวมประเด็นที่สำคัญ และข้อสังเกตที่น่าสนใจจากประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวไว้ 8 ประเด็น ดังนี้

1. เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ และมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิด และจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชดใช้

2. ต่อมาเมื่อการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดดังกล่าวเสร็จสิ้น โดยหลักทั่วไป ผู้สั่งแต่งตั้งจะต้องวินิจฉัยสั่งการว่ามีผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด แต่ยังไม่ต้องออกคำสั่ง โดยให้ส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไปให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ เพื่อเป็นการกลั่นกรองการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่งให้มีมาตรฐานเดียวกัน และหากกระทรวงการคลังตรวจสอบสำนวนแล้วเสร็จมีความเห็นเป็นประการใด หน่วยงานของรัฐย่อมต้องผูกพันตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

3. อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังไม่สามารถตรวจสอบสำนวนการสอบสวนของหน่วยงานทั้งประเทศ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 17 วรรคสอง จึงให้อำนาจกระทรวงการคลังประกาศกำหนดว่าเรื่องใดไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ ซึ่งมีผลทำให้หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาออกคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทันที เพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว

4. กระทรวงการคลังจึงได้มีประกาศกำหนดเรื่องที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ โดยประกาศฉบับแรกเมื่อปี 2541 ต่อมามีการยกเลิกและประกาศใช้ฉบับใหม่เรื่อยมา จนถึงปัจจุบันเป็นฉบับที่ 5 ดังนี้

5. ปัจจุบัน เรื่องที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ (ตามประกาศปี 2562) ดังนี้
   1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ครั้งละไม่เกิน 1,000,000 บาท
   2) ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ครั้งละเกินกว่า 1,000,000 บาท สำหรับความเสียหายประเภท
      2.1) ความเสียหายจากสาเหตุทั่วไปที่มิได้มีสาเหตุจากการทุจริต เงินขาดบัญชีหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีหรือข้อบังคับต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ เพลิงไหม้ ทรัพย์สินเสียหายหรือสูยหาย เป็นต้น และหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้ต้องรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ร้อยละ 75 ของความเสียหายทั้งหมด
      2.2) ความเสียหายที่มีสาเหตุจากการทุจริต และหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้ทุจริตรับผิดชดใช้เต็มจำนวนความเสียหายและพิจารณาให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นโอกาสหรือช่องทางให้เกิดการทุจริตชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหาย
      2.3) ความเสียหายที่มิได้เกิดจากการทุจริต แต่มีสาเหตุจากเงินขาดบัญชีหรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีหรือข้อบังคับต่างๆ และหน่วยงานของรัฐได้พิจารณาให้ผู้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนความเสียหาย
   3) ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการ

6. ประกาศฉบับปัจจุบัน (ปี 2562) ได้เพิ่มเติมหลักการใหม่ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ทางราชการในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ ก็ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ 
   หลักการใหม่นี้ผมมีความเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจาก
   1) พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณี รวมทั้งให้หักส่วนแห่งความรับผิดออกด้วยถ้าหากการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม 
   การที่คณะรัฐมนตรีจะมีอำนาจยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายได้นั้น จะต้องมีกฎหมายบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ และเป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับศักดิ์เดียวกันขึ้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีที่จะยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 8 จึงสมควรที่จะมีการศึกษาต่อไป ว่ามีกฎหมายใดให้อำนาจคณะรัฐมนตรีไว้หรือไม่ และให้อำนาจไว้เพียงใด
   2) หากปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติใดได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรียกเว้นความรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้า พ.ศ. 2539 กระทรวงการคลังจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดอีกต่อไป เนื่องจากมีกฎหมายยกเว้นความรับผิดไว้แล้ว (ถ้ามี) และการออกประกาศกำหนดให้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบจึงไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด

7. ตามประกาศฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 หากเรื่องใดเข้าข่ายไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รายงานความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงการคลังทราบทุกระยะ 3 เดือน แต่ปัจจุบันกำหนดให้มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงาน โดยให้หน่วยงานของรัฐรายงานความเสียหายใน "ระบบความรับผิดทางละเมิดและแพ่ง" ที่กรมบัญชีกลางจัดทำขึ้น

8. ประกาศฉบับปัจจุบัน (ปี 2562) ได้กำหนดนิยามคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ไว้ ให้หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งนิยามดังกล่าวมีถ้อยคำเช่นเดียวกับนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มิได้กำหนดความหมายให้แตกต่างเป็นอย่างอื่น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดขึ้นซ้ำแต่อย่างใด ดังเช่นประกาศฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 4 ก็มิได้กำหนดให้ซ้ำ
#นักเรียนกฎหมาย
27 สิงหาคม 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)