การบังคับคดีผู้ประกันในคดีอาญา


การบังคับคดีผู้ประกันในคดีอาญา ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการบังคับคดีผู้ประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2560 มีสาระสำคัญดังนี้

1. เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้ง หมายความว่า ข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ลูกจ้าง และพนักงานราชการศาลยุติธรรม ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมหรือศาลกำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับคดีผู้ประกันตน

2. ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดี เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้ง ส่งหมายบังคับคดีพร้อมเอกสารในสำนวนคดีที่จำเป็นแก่การบังคับคดี ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี และแจ้งพนักงานอัยการพร้อมแนบสำเนาหมายบังคับคดีดังกล่าว เพื่อดำเนินการต่อไป

3. การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่ผู้ประกันนำมาวางเป็นหลักประกันต่อศาล เมื่อเจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งส่งหมายบังคับคดี และทรัพย์สินหรือหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้น รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ถือว่าได้มีการยึดทรัพย์สินนั้นแล้ว และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการต่อไปให้ครบขั้นตอนที่กำหนดไว้สำหรับการยึดทรัพย์สินแต่ละประเภท ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ถ้าทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งส่งแผนที่ และภาพถ่ายที่ตั้งทรัพย์ (ถ้ามี) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย หากมีความจำเป็นต้องชี้ตำแหน่งที่ดิน เพื่อยึดทรัพย์สินของผู้ประกันตามคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งเจ้าพนักงานที่ดิน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

6. ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ประกัน นอกจากการไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 277 แล้ว ให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งหรือพนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบเพื่อสืบหาทรัพย์สินของผู้ประกันด้วย

เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งมีหนังสือไปยังพนักงานอัยการ เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการตรวจสอบทรัพย์สินและการบังคับคดีตามระยะเวลาที่เห็นสมควร

7. ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินของผู้ประกันที่วางเป็นหลักประกันออกขายทอดตลาด และเห็นได้ว่าแม้มีการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้ว ยังไม่พอชำระค่าปรับตามสัญญาประกัน เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งหรือพนักงานอัยการ อาจขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอื่นของผู้ประกันเพิ่มเติม ให้เพียงพอชำระค่าปรับตามสัญญาประกันก็ได้

8. ในกรณีที่ผู้ประกันนำเงินมาวางศาล เพื่อชำระค่าปรับตามสัญญาประกัน มิให้ถือว่าเป็นเงินที่เจ้าหนี้อื่นอาจขอเฉลี่ยได้ตามมาตรา 278 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

9. เมื่อครบระยะเวลาการบังคับคดี และผู้ประกันไม่มีทรัพย์สินใดอยู่ระหว่างการบังคับคดีอีก ให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งทำรายงานการบังคับคดีผู้ประกันเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการบังคับตามสัญญาประกัน และรายงานผลให้สำนักงานศาลยุติธรรมทราบ รวมทั้งแจ้งให้พนักงานอัยการและเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบด้วย

10. ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดี ให้ผู้ประกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี กรณียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

11. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางธุรการ เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อบังคับนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศเพื่อกำหนดวิธีการนั้น

12. ให้ประธานศาลฎีการักษาการ และมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมทั้งออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือคำแนะนำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อบังคับนี้

#นักเรียนกฎหมาย
12 พฤศจิกายน 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)