"ผู้มีส่วนได้เสีย" ในสัญญาจ้างของสมาชิกสภาท้องถิ่น (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.526/2556)


การพิจารณาว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาจ้างที่หน่วยงานเป็นคู่สัญญาหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดวางหลักในการพิจารณาดังกล่าว ว่าจะต้องพิจารณาในหลายประเด็นประกอบกัน จะพิจารณาเพียงว่าเป็นคู่สัญญาหรือไม่เท่านั้นมิได้ ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.526/2556 

ความเป็นมาของคดีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 ผู้ฟ้องคดีเข้าทำสัญญากับเทศบาล รับจ้างก่อสร้างปรับปรุงเสริมผิวจราจรลาดยาง และวางเงินหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา จำนวน 16,750 บาท ซึ่งตามสัญญากำหนดให้ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องไว้เป็นเวลา 2 ปี นับถัดจากวันที่มีการตรวจรับงาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบงานแก่เทศบาล แต่ยังคงต้องผูกพันตามสัญญาในความชำรุดบกพร่องเป็นเวลา 2 ปี นับถัดจากวันที่มีการตรวจรับงาน (เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการตรวจรับงานวันใด และหากมีการตรวจรับเงินวันที่ส่งมอบงานนั้นเอง ผู้ฟ้องคดีจำต้องผูกพันในความชำรุดบกพร่อง จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2553)

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล 

ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทใดๆ อันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ความผูกพันของผู้ฟ้องคดีกับเทศบาล มีเพียงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดในความชำรุดบกพร่องเท่านั้น หากมีการชำรุดเกิดขึ้นจริง เทศบาลสามารถใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาและตามกฎหมายเอาแก่ผู้ฟ้องคดีได้

เมื่อปรากฏว่า ภายหลังผู้ฟ้องคดีลาออกจากสมาชิกสภาเทศบาล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2553 และมีการอนุมัติคืนเงินค้ำประกันสัญญาแก่ผู้ฟ้องคดีในวันที่ 9 กันยายน 2553 อันเป็นเวลาหลังจากพ้นกำหนดเวลาที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่อง

ประกอบกับ การดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ที่จะสั่งการอนุมัติหรืออนุญาตเกี่ยวกับราชการของเทศบาล โดยเฉพาะเกี่ยวกับสัญญาจ้างและข้อบกพร่องตามสัญญาจ้างนี้แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ระหว่างผู้ฟ้องดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่จะแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยอาศัยโอกาสที่ตนดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งจากการที่ผู้ฟ้องคดียังคงมีข้อผูกพันตามสัญญาดังกล่าวและกรณีอื่นใด

จึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาจ้างดังกล่าว

คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่ได้ทำกับเทศบาล เป็นการกระทำอันต้องห้าม ตามมาตรา 18 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นชอบแล้ว
#นักเรียนกฎหมาย
2 ธันวาคม 2563

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)