คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด : การลงโทษทางวินัย ต้องเหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิด


คดีนี้เกิดขึ้นจาก ลูกจ้างประจำ 2 คน มีหน้าที่ในตำแหน่งรักษาอาคาร และลูกจ้างประจำอีก 1 คน ทำหน้าที่ในตำแหน่งคนงาน ได้ร่วมเล่นการพนันไฮโลว์กับผู้อื่น รวม 11 คน ในวันหยุดโดยใช้สถานที่ราชการ และถูกตำรวจจับกุม ศาลมีคำพิพากษาปรับคนละ 1,000 บาท

ผู้บังคับบัญชาได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษปลดลูกจ้างประจำทั้ง 3 คน ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ลูกจ้างประจำทั้ง 3 คน ไม่ได้มีหน้าที่ในการกวดขันการกระทำผิดกฎหมาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอาคารของหน่วยงาน ไม่ได้มีหน้าที่ติดต่อหรือบริการประชาชนโดยตรง ไม่ได้เป็นเจ้ามือ เจ้าสำนักหรือเล่นการพนันเป็นอาจิณ และกระทำความผิดนอกเวลาราชการมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ 

ประกอบกับ ก.พ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการต่างๆ ได้รวบรวมแนวทางการลงโทษ ที่ปรับบทความผิดและกำหนดระดับโทษได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกรณีการเล่นการพนัน มีการลงโทษตัดเงินเดือนและลงโทษลดเงินเดือน การลงโทษจึงต้องคำนึงถึงระดับโทษที่ส่วนราชการอื่นลงโทษด้วย

สำหรับแนวทางการลงโทษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2546 ซึ่งถือเป็นเพียงคำแนะนำให้ส่วนราชการนำไปประกอบการพิจารณา มิได้หมายความว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดฐานเล่นการพนันแล้ว จะต้องเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงทุกกรณี


ดังนั้น การกระทำของลูกจ้างประจำทั้ง 3 คน ยังไม่อาจถือได้ว่า กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง แต่เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว (เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง) ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดได้ คำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว

ที่มา คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.142/2559 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
6 มกราคม 2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566