คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด : อบต. ละเลยการซ่อมแซมสะพานขาดชำรุด


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากผู้เสียหายได้ขับรถยนต์ไปตามทาง โดยไม่ทราบว่าสะพานข้ามแม่น้ำชำรุดเสียหายใช้สัญจรไปมาไม่ได้ เป็นเหตุให้รถยนต์ตกลงแม่น้ำป่าสักได้รับความเสียหาย

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า อบต. มีหน้าที่จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก ตลอดจนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามมาตรา 67 (1) (4) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 

เมื่อ อบต. ไม่ได้ปิดทางบริเวณก่อนถึงสะพานที่เกิดเหตุ เพื่อป้องกันมิให้มีการสัญจรผ่านไปถึงสะพานได้ ไม่ว่าจะได้จัดทำป้ายเตือนข้อความว่า "อันตรายสะพานขาด" สักกี่ป้ายก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุ

อีกทั้งสะพานขาดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 จนถึงวันที่รถยนต์เกิดเหตุตกสะพานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ไม่ปรากฏว่า อบต.ได้ดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หรือเร่งรัดให้มีการซ่อมแซมสะพานให้ใช้ได้ดีดังเดิม จึงถือว่ากระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย โดยการละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และละเลยต่อหน้าที่ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทาง ตามมาตรา 67 ดังกล่าว ซึ่งมีผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของผู้เสียหายประสบอุบัติเหตุจนใช้การไม่ได้ จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณืเป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายใดเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียรไร ตามมาตรา 422 ประกอบมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อ อบต.ได้จัดทำป้ายเตือนขนาดใหญ่และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนมีข้อความว่า อันตรายสะพานขาด โดยนำไปวางปากทางถนนที่เกิดเหตุ ให้เหลือช่องทางเดินรถเพียงหนึ่งช่องทาง หากผู้เสียหายมีความระมัดระวังตามสมควร ย่อมต้องสังเกตเห็นป้ายดังกล่าว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย

โดยเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ เห็นได้ว่าในวันเกิดเหตุมีป้ายเตือนสะพานขาดติดตั้งห่างจากสะพานที่เกิดเหตุประมาณ 2-3 กิโลเมตร เพียงป้ายเดียว อันแสดงถึงความไม่ใส่ใจที่จะป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับประชาชนทั่วไป ความเสียหายมีผลจากการละเลยต่อหน้าที่ของ อบต. มากกว่าความประมาทเลินเล่อของผู้เสียหาย อบต.จึงควรรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละ 80 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น

ที่มา คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.33/2554 
#นักเรียนกฎหมาย
9 มกราคม 2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)