การจัดเก็บข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของสถานศึกษา


คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 รับทราบแนวทางปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเข้าสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ 

และให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการทั่วไป สำหรับในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการหรือสถานศึกษา มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจดังนี้

หลักกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงต้องทำการสำรวจว่าเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือผู้ครอบครอง หรือผู้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง หรือครอบครองที่ราชพัสดุ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของหรือครอบครองดังกล่าวจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย

1) ผู้เสียภาษี หมายถึง เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือผู้ครอบครอง หรือผู้ทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ต้องทำการสำรวจว่าเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือครอบครองที่ราชพัสดุที่ใดบ้าง ณ บริเวณใด 

การเป็นเจ้าของหรือครอบครองดังกล่าว หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย โดยผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ ณ วันที่ 1 มกราคม ของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น (สำหรับปี พ.ศ. 2563 จะพิจารณาจากผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ ณ วันที่ 1 มกราคม 2563)

2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาษีที่จัดเก็บได้ในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น 

เจ้าพนักงานสำรวจ พนักงานประเมิน พนักงานเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้บริหารท้องถิ่น จะจัดทำรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทุกประเภท ทั้งพื้นที่ของเอกชน พื้นที่ที่มีโฉนด และพื้นที่หน่วยงานของรัฐ 

ในกรณีพื้นที่ของรัฐ หากมีการใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณะตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากมีการใช้ประโยชน์ในลักษณะการหารายได้จะอยู่ในข่ายที่ต้องถูกประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้น หน่วยงานต้องเตรียมเอกสารข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อแสดงแก่ท้องถิ่น เพื่อให้การสำรวจและจัดทำข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง

3) การยกเว้น การลดภาษี จะกำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น การยกเว้นภาษีของหน่วยงานของรัฐ จะกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 8 (1) ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์ เป็นต้น

4) อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นอัตราก้าวหน้า โดยจำแนกตามการใช้ประโยชน์ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
    4.1) การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีเริ่มต้นร้อยละ 0.01
    4.2) การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีเริ่มต้อนร้อยละ 0.02
    4.3) การใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย อัตราภาษีเริ่มต้นร้อยละ 0.3
    4.4) รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีเริ่มต้นรอ้ยละ 0.3 และหากยังทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพเป็นเวลาติดต่อกัน ให้เพิ่มอัตราภาษีอีกร้อยละ 0.3 ในทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีที่เสียรวมทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 3

แนวทางปฏิบัติของสถานศึกษา
1) กรณีที่ดินที่ได้รับบริจาคจากผู้มีอุปการคุณให้นำที่ดินไปใช้ในการหาประโยชน์ และนำผลประโยชน์ที่ได้มาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม การพาณิชย์ และบางส่วนในลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการพาณิชย์ด้วย เช่น การให้เช่าทำที่จอดรถ หรือรูปแบบอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ประโยชน์ โดยได้มีการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน และเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

2) กรณีให้ธนาคารกรุงไทยใช้พื้นที่ติดตั้งตู้ ATM ให้ตึกอาคารสำนักงาน ตู้ ATM ดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง เพราะไม่มีลักษณะเป็นโรงเรือน ตึกหรืออาคาร แต่ยังต้องเสียภาษีในส่วนของที่ดิน

3) กรณีที่ดินที่ได้รับบริจาค หากเจ้าของที่ดินยกที่ดินให้ และได้นำไปหาประโยชน์ หารายได้ โดยเจ้าของที่ดินไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ เจ้าของที่ดินจะต้องถูกประเมินและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับกรณีที่มีผู้บริจาคที่ดินให้กับวัด แต่ผู้บริจาคยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่ และวัดนำที่ดินนั้นไปหารายได้ เจ้าของที่ดินก็จะต้องถูกประเมินและเสียภาษีเช่นกัน

4) โรงเรียนมีร้านค้าซึ่งเป็นสวัสดิการและไม่ได้หากำไร ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลเด็กและจัดอาหารกลางวัน โรงอาหารของโรงเรียนถือเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดำเนินการเพื่อขายอาหารให้กับเด็กนักเรียน กรณีนี้พิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ประโยชน์ในกิจการรัฐ

5) โรงเรียนมีการส่งเสริมเรื่องสหกรณ์โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ระบบสหกรณ์ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีการส่งเสริมโดยนำผลผลิตโครงการอาหารกลางวันไปใช้ในระบบสหกรณ์โรงเรียน ต้องพิจารณาลักษณะของสหกรณ์มี 2 ประเภท คือ การหาประโยชน์ และไม่หาประโยชน์ โดยส่วนใหญ่สหกรณ์ที่ทำตามแนวพระราชดำริฯ จะไม่หาประโยชน์ จึงเป็นไปตามมาตรา 8 (1) ที่กำหนดว่า ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการสาธารณะ โดยมิได้หาประโยชน์ ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายเสียภาษี

ที่มา 
#นักเรียนกฎหมาย
25 มีนาคม 2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)