การเรียกดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ทุจริต


การเรียกดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ทุจริตในเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ทุจริตยักยอกเงิน ต่อมาได้นำเงินที่ยักยอกมาชำระคืนแก่ทางราชการแล้ว หน่วยงานของรัฐเห็นว่าไม่ได้รับความเสียหาย เห็นสมควรยุติเรื่อง และเป็นเรื่องที่ไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ (แต่ได้รายงานให้ทราบ) กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางตรวจสอบและแจ้งให้หน่วยงานของรัฐเรียกดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่เจ้าหน้าที่ยักยอกเงินของหน่วยงานของรัฐไป ต่อมาได้ชำระคืนแล้ว จะมีผลทำให้หนี้เป็นอันระงับและไม่อาจเรียกให้ชำระดอกเบี้ยหรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กรณีความรับผิดในมูลหนี้ละเมิด มีความรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ตามบทบัญญัติของกฎหมายในมาตรา 224 และมาตรา 206 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้คิดดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดแต่มูลละเมิดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด ประกอบกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0418.7/ว 105 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยกรณีเบิกจ่ายไม่ถูกต้องและกรณีกระทำผิดทางละเมิด กำหนดให้ส่วนราชการเรียกให้เจ้าหน้าที่ซึ่งจงใจทุจริตยักยอกเงินหรือทรัพย์สินของทางราชการไปและมีมูลความผิดทางอาญาด้วย ชำระดอกเบี้ยของเงินหรือทรัพย์สินที่ต้องชดใช้ตั้งแต่วันที่กระทำการทุจริต ความรับผิดในการชำระดอกเบี้ยในมูลละเมิด จึงเป็นไปโดยผลของกฎหมายและหลักเกณฑ์ของทางราชการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่เสียหายไม่อาจใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้

ดังนั้น แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะนำเงินมาชำระคืนครบตามจำนวนเงินที่ได้ยักยอกไปแล้ว และหน่วยงานของรัฐเห็นควรให้ยุติเรื่อง แต่ก็ยังไม่อาจถือว่าเป็นการชำระหนี้ครบถ้วน และไม่มีผลทำให้หนี้เป็นอันระงับและความรับผิดในมูลละเมิดสิ้นสุดลง เพราะยังไม่มีการชำระในส่วนของดอกเบี้ยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและหลักเกณฑ์ของทางราชการ หน่วยงานของรัฐจึงต้องเรียกให้ชำระดอกเบี้ยของเงินที่ทุจริต โดยคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ทุจริตไปตั้งแต่วันที่นำเงินไปจนถึงวันที่นำเงินมาชำระคืน

ประเด็นที่ 2 อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ย

คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มิได้กำหนดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ 

จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ในกรณีหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าต้องรับผิด ให้มีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง มาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง โดยการออกคำสั่งให้ชำระเงินเพิ่มขึ้นตามความเห็นของกระทรวงการคลัง มีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงต้องเรียกให้ชำระดอกเบี้ยภายในอายุความ 1 ปี นับแต่ได้รับแจ้งความเห็นของกระทรวงการคลัง และโดยหลักแล้ว การใช้สิทธิเรียกร้อง 1 ปี ดังกล่าว ต้องกระทำภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในฐานะกฎหมายทั่วไปในเรื่องละเมิดด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่ามีการฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่ ในฐานความผิดปลอดเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 266 (1) และมาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยทั้งสองฐานความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท ซึ่งมาตรา 95 วรรคหนึ่ง (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดอายุความไว้ 15 ปี ดังนั้น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยในมูลละเมิดจึงกระทำได้ภายในอายุความ 15 ปี ซึ่งเป็นอายุความอาญาที่ยาวกว่า ตามที่กำหนดในมาตรา 448 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำการยักยอกเงินในระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง 2553 หลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ปัจจุบันการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยสำหรับการกระทำละเมิดส่วนหนึ่งจึงยังไม่ขาดอายุความ (แต่สำหรับการกระทำละเมิดอีกส่วนหนึ่ง การใช้สิทธิเรียกร้องได้ขาดอายุความแล้ว จึงไม่อาจเรียกให้ชำระดอกเบี้ยได้)

ที่มา ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 1619/2563 เรื่อง การเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตยักยอกเงินชำระดอกเบี้ยของเงินที่ยักยอก กรณีเจ้าหน้าที่ได้นำเงินที่ยักยอกมาคืนแก่ทางราชการครบถ้วนแล้ว และเป็นสำนวนที่ไม่ต้องส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)