สรุปคำบรรยาย กฎหมายอาญา 3 (ครั้งที่ 1)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายอาญา 3 LAW3101 (LAW3001 เดิม)
ภาคเรียน 2/2563
ครั้งที่ 1 : วันที่ 15 ธันวาคม 2563
บรรยายโดยท่านอาจารย์ มาโนช สุขสังข์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

***************** 

กฎหมายอาญา 3 จะเรียนตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย , ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง และลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

ในส่วนของอาจารย์ จะบรรยายลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
กฎหมายต้องการคุ้มครอง ตัวทรัพย์ ซึ่งความผิดเกี่ยวกับทรัพย์นี้ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์อย่างเดียว เนื่องจากมาตรา 334, มาตรา 352 ใช้คำว่า "ทรัพย์" มาตรา 341 ใช้คำว่า "ทรัพย์สิน" และมาตรา 337 ใช้คำว่า "ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน"

แต่เนื่องจาก ป.อาญา ไม่มีนิยามความหมายคำว่า "ทรัพย์" และ "ทรัพย์สิน" จึงต้องนำกฎหมายที่ใกล้เคียงมาใช้ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
- มาตรา 137 บัญญัติว่า "ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง" 
- มาตรา 138 บัญญัติว่า "ทรัพย์สิน หมายความรวมถึงทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้"

อาจารย์จะให้พิจารณาความแตกต่างในเรื่องตัวทรัพย์ ดังนี้
มาตรา 334 ลักทรัพย์
"ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์..."
ต้องเป็นวัตถุมีรูปร่าง ถ้าไม่ใช่วัตถุมีรูปร่าง ก็ลักทรัพย์ไม่ได้
ซึ่งวัตถุมีรูปร่าง มีทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์
แต่องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ คือ "เอาไป" ต้องทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่ไปได้ จึงหมายถึงเฉพาะสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะใครก็เคลื่อนที่ทรัพย์นั้นไม่ได้

มาตรา 341 ฉ้อโกง
"ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..."
เป็นทั้งทรัพย์ และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ตัวอย่าง 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2548 เอ มีหุ้นบริษัท 9,000 หุ้น บอกขายให้บี 3,000 หุ้น เมื่อบีโอนเงินค่าหุ้นให้เอแล้ว แต่เอไม่โอนหุ้นให้ ถือว่าเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง เนื่องจากเอมีหุ้นจริง ไม่ได้หลอกลวง

จากตัวอย่างนี้ ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงว่า เอไม่มีหุ้นอยู่จริง จึงเป็นการหลอกลวง เมื่อได้เงินไป ก็ผิดฉ้อโกง

ในทางกลับกัน ถ้าบี มาหลอกขอซื้อหุ้นจากเอ เมื่อเอโอนหุ้น เป็นการโอนทรัพย์สิน บีก็ผิดฉ้อโกง

ตัวอย่าง
บีต้องการซื้อที่ดินจากเอ เมื่อเอโอนที่ดินให้แล้ว บีจ่ายเป็นธนบัตรปลอม บีมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด?
ต้องเริ่มพิจารณา ว่าที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตัดความผิดฐานลักทรัพย์ออกไปได้เลย
ที่ดินเป็นทรัพย์สิน อยู่ในความหมายที่อาจฉ้อโกงได้ บีผิดฉ้อโกง

มาตรา 352 ยักยอก
"ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก..."
ใช้คำว่า "ทรัพย์" ดังนั้น ต้องมีรูปร่าง (ถ้าไม่มีรูปร่าง ก็ยักยอกไม่ได้)
"เบียดบัง" คือ การแย่งกรรมสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องเอาไปให้เคลื่อนที่เหมือนการลักทรัพย์
จึงเบียดบังได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์

ตัวอย่าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2536 โจทก์ซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากการขายทอดตลาด โดยไม่เห็นบ้านจริง และจำเลยรู้การขายทอดตลาด แต่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว ต่อมาโจทก์มาดูบ้านที่ซื้อทอดตลาด เมื่อมาถึงบ้านที่ซื้อจึงสอบถามบ้านกับจำเลย จำเลยบอกว่าไม่ใช่บ้านหลังนี้ แต่บอกเป็นหลังอื่น จำเลยผิดฐานยักยอก

สรุปความแตกต่างเมื่อเจอข้อสอบ ดังนี้
มาตรา 334 ลักทรัพย์
-ต้องมีรูปร่าง
-สังหาริมทรัพย์เท่านั้น

มาตรา 341 ฉ้อโกง
-เป็นได้ทั้งมีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง
-เป็นได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสิทธิเรียกร้องต่างๆ

มาตรา 352 ยักยอก
-ต้องมีรูปร่าง
-เป็นได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์

ต่อไป อาจารย์จะให้พิจารณาการกระทำ ดังนี้
มาตรา 334 ลักทรัพย์ 
การลักทรัพย์ ต้องเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ และแย่งสิทธิครอบครองของผู้อื่น
-เจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ผิดฐานลักทรัพย์ แม้การครอบครองจะอยู่ที่ผู้อื่น
เช่น การจำนำ เจ้าของเอาทรัพย์มาจำนำ โรงรับจำนำเป็นเพียงผู้ครอบครอง เจ้าของเอาทรัพย์ในโรงรับจำนำไป ไม่ผิดลักทรัพย์ เพราะแย่งการครอบครองอย่างเดียว (ไม่ได้แย่งกรรมสิทธิ์) แต่ผิดมาตรา 349 ฐานโกงเจ้าหนี้
-ในทางตรงกันข้าม โรงรับจำนำ เอาทรัพย์ไปขาย เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ แต่ไม่ได้แย่งการครอบครอง (เพราะครอบครองทรัพย์อยู่แล้ว) จึงไม่ผิดลักทรัพย์ แต่ผิดมาตรา 352 ยักยอกทรัพย์ เพราะเบียดบังเอากรรมสิทธิ์ไป

ตัวอย่าง
เอ ขโมยรถบี นำมาจอดไว้หน้าบ้าน ต่อมา ซีเห็น จึงขโมยรถคันดังกล่าวไป 
ต้องดูว่ารถคันนี้กรรมสิทธิ์เป็นของใคร?
รถยังเป็นของบี แต่เอเป็นคนครอบครอง
ดังนั้น ซีแย่งกรรมสิทธิ์ของบี และแย่งการครอบครองของเอ ซึจึงผิดลักทรัพย์
ส่วนเอแย่งทั้งกรรมสิทธิ์และการครอบครองจากบี เอก็ผิดลักทรัพย์

มาตรา 341 ฉ้อโกง
ต้องมีกลิ่นอายของการแสดงสิ่งที่ไม่จริง แล้วได้กรรมสิทธิ์
ตัวอย่าง
เอ บอก บี ว่ารู้จักผู้จัดการบริษัท ถ้าจ่ายเงินจะฝากเข้าทำงานได้ โดยเอไม่ได้รู้จักผู้จัดการ เมื่อบีหลงเชื่อจ่ายเงินไป เอจึงผิดฉ้อโกง

แต่ถ้าเอรู้จักผู้จัดการจริง และมีตำแหน่งว่างจริง แต่เมื่อรับเงินมาจากบีแล้ว บริษัทปิดกิจการ บีจึงไม่ได้ทำงาน เช่นนี้ แม้เอจะได้ทรัพย์ไป ก็ไม่ผิดฉ้อโกง เพราะไม่ได้หลอกลวง ผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการได้ทรัพย์สินไป ได้ไปจากการหลอกลวงหรือไม่ได้หลอกลวง

ตัวอย่าง
เอ เข้าไปในห้าง ต้องการซื้อพัดลมตัวละ 500 บาท แต่ไปเจอตัวละ 1,500 บาท จึงสับเปลี่ยนป้ายราคาและนำพัดลงไปจ่ายเงิน
การวิเคราะห์ พัดลมเป็นสังหาริมทรัพย์ อาจผิดลักทรัพย์/ฉ้อโกง
การเปลี่ยนป้ายราคา เป็นการหลอกลวงแล้วได้พัดลมไป จึงผิดฉ้อโกง

ตัวอย่าง
เอ เข้าไปในห้าง อยากได้สุรา 1 ลัง แต่ไม่อยากจ่ายเงิน จึงสลัับสุราไปใส่ในลังน้ำปลา แล้วนำไปจ่ายเงิน พนักงานขายเข้าใจว่าเป็นน้ำปลา 1 ลัง เอจึงได้สุราที่อยู่ในลังน้ำปลาไป เอผิดลักทรัพย์หรือฉ้อโกง

การวิเคราะห์ การฉ้อโกง คือ หลอกลวงให้ได้กรรมสิทธิ์
แต่ตามตัวอย่าง พนักงานขาย เข้าใจว่าเป็นน้ำปลา ไม่รู้ว่าเป็นสุรา การหลอกลวงของเอ จึงได้แย่งการครอบครอง ไม่ได้กรรมสิทธิ์ เอไม่ผิดฉ้อโกง ผิดลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ซึ่งอาจารย์จะอธิบายในครั้งต่อไป

ตัวอย่าง
ยืมรถมาใช้ จึงอยู่ในฐานะผู้ครอบครอง ถ้าต่อมาอยากได้ ไม่คืนเจ้าของ เป็นการเบียดบัง ผิดยักยอกทรัพย์

ตัวอย่าง 
โรงรับจำนำครอบครองทรัพย์ แล้วเบียดบัง ผิดยักยอก

สรุปความแตกต่างเมื่อเจอข้อสอบ ดังนี้
มาตรา 334 ลักทรัพย์
-ต้องมีรูปร่าง
-สังหาริมทรัพย์เท่านั้น
การกระทำแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครอง

มาตรา 341 ฉ้อโกง
-เป็นได้ทั้งมีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง
-เป็นได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสิทธิเรียกร้องต่างๆ
หลอกลวงแล้วได้กรรมสิทธิ์ (ถ้าหลอกลวงแล้วได้การครอบครอง ผิดลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย)

มาตรา 352 ยักยอก
-ต้องมีรูปร่าง
-เป็นได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์
มีการครอบครองอยู่แล้ว แต่เบียดบังแย่งกรรมสิทธิ์

***ในข้อเท็จจริงเดียว เมื่อเข้าฐานใดแล้ว จะไม่เข้าฐานอื่น 
เช่น เมื่อผิดฉ้อโกง จะไม่ผิดลักทรัพย์ ไม่ผิดยักยอก จึงต้องเลือกให้ถูก

เช่น เมื่อเจอข้อสอบ แล้วแยกได้แล้วว่าอยู่ในกลุ่มลักทรัพย์ คือ มีฐานกระทำผิดในเรื่องลักทรัพย์ ก็ต้องดูต่อว่า จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ มาตรา 334 , วิ่งราวทรัพย์ มาตรา 336 , ชิงทรัพย์ มาตรา 339 หรือปล้นทรัพย์ มาตรา 340

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นเรื่องยักยอกทรัพย์ แม้จะมีการใช้กำลังก็ตาม เมื่อไม่ใช่ความผิดในกลุ่มลักทรัพย์แล้ว ก็ไม่ผิดวิ่งราว/ชิงทรัพย์/ปล้นทรัพย์

ตัวอย่าง (ข้อสอบเก่า)
แดงกับขาวไปดูฟุตบอล แต่คนเยอะ แดงจึงฝากเงินให้ขาวไปซื้อตั๋วให้ ขาวรับเงินแล้ว ซื้อตั๋วของตัวเองแล้วเข้าไปดูฟุตบอล โดยไม่ซื้อให้แดง ขาวผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด?
การวิเคราะห์ 
เงินเป็นสังหาริมทรัพย์ ผิดได้ทั้งลักทรัพย์/ฉ้อโกง/ยกยอก
การที่แดงให้เงินขาวไป ไม่มีพฤติการณ์การหลอกลวง จึงตัดฉ้อโกงไปได้เลย เหลือความผิดลักทรัพย์/ยักยอก
ต่อไปต้องดูการครอบครอง/กรรมสิทธิ์อยู่กับใคร?
แม้เงินจะอยู่กับขาว แต่ถือว่าเงินยังอยู่ในความครอบครองของแดง เมื่อขาวเอาเงินไป จึงเป็นการแย่งทั้งกรรมสิทธิ์และการครอบครอง จึงผิดลักทรัพย์

ตัวอย่าง
เอซื้อที่ดินจากบี แต่จดทะเบียนชื่อซีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยซีไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ต่อมาซีเอาที่ดินไปขายให้บุคคลอื่น ซีผิดเกี่ยวกับทรัพย์เรื่องใด?
การวิเคราะห์ 
ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตัดลักทรัพย์ออกไปได้เลย เหลือฉ้อโกง/ยักยอก
เมื่อไม่มีเรื่องการหลองหลวง ตัดฉ้อโกง เหลือยักยอกฐานเดียว จึงต้องดูต่อว่า เป็นความผิดยักยอกหรือไม่
การเอาไปขายเป็นการเบียดบัง แต่จะเป็นการยักยอก ต้องมีการครอบครอง เมื่อซีไม่ได้ครอบครอง เพียงแต่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซีจึงไม่ผิดฐานยักยอก

*****จบคำบรรยาย ครั้งที่ 1*****

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)