แนวทางการดำเนินคดีของรัฐ

เนื่องจาก ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ โดยกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินคดีแพ่งและคดีปกครอง รวมทั้งองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้โดยเฉพาะแล้ว

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรับมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุมพิจารณาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 (แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 221 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2566) มีมติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี รวม 5 ครั้ง และเห็นชอบแนวทางการดำเนินคดีตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินคดีดังกล่าวอีกครั้ง (แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0503/ว 312 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2562) โดยมีแนวทางการดำเนินคดีดังนี้

1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี รวม 5 ครั้ง
1) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร 0505/ว 184 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549

2) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 13 ลงวันที่ 24 มกราคม 2550

3) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0503/ว 145 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2558

4) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 193 ลงวันที่ 21 เมษายน 2560

5) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0503/ว 139 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554

2. เห็นชอบ แนวทางในการดำเนินคดีของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 
2.1) การดำเนินคดีอาญา
เมื่อมีการกระทำความผิดทางอาญาต่อราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้แจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่สมควรว่าจ้างทนายความยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดเอง

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐดังกล่าว ถูกเอกชนฟ้องเป็นคดีอาญา ให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการแก้ต่างคดี ถ้าพนักงานอัยการปฏิเสธหรือขัดข้องในการรับแก้ต่าง ให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวมีสิทธิ์ว่าจ้างทนายความดำเนินคดีได้

2.2) การดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกรณีคดีใกล้ขาดอายุความ
เมื่อมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ ให้หน่วยงานของรัฐใช้ความระมัดระวังในการดำเนินคดี เพื่อมิให้คดีขาดอายุความหรือพ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี และในกรณีที่ต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ หากคดีใกล้ขาดอายุความหรือใกล้พ้นกำหนดเวลาฟ้องคดี และยังไม่สามารถส่งข้อพิพาทไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดได้ ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการรับสภาพหนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น

2.3) การดำเนินคดีที่ขาดอายุความ
กรณีคดีขาดอายุความแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐยังยืนยันให้พนักงานอัยการดำเนินคดีให้ ทั้งที่เห็นได้ล่วงหน้าว่าหากดำเนินคดีต่อไปก็มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ กล่าวคือ เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียกำลังคนในการปฏิบัติงานโดยเปล่าประโยชน์ อีกทั้งการดำเนินคดีของรัฐไม่ควรดำเนินการในลักษณะที่เอารัดเอาเปรียบเอกชน ด้วยการคาดหวังว่าเอกชนอาจไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้คดี เพราะความไม่รู้กฎหมาย หรือความหลงลืม หรืออาจขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา เพราะมีผลให้การอำนวยความยุติธรรมของรัฐขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงไม่ควรนำคดีที่ขาดอายุความแล้วส่งให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป

3. เห็นชอบ แนวทางในการดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีในศาลปกครอง
3.1) มอบอำนาจในการดำเนินคดีปกครองในนามคณะรัฐมนตรีในศาลปกครอง ให้พนักงานอัยการเป็นผู้ว่าต่างแก้ต่าง ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีปกครองทุกศาล และทุกชั้นศาลปกครองจนกว่าคดีถึงที่สุด และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดได้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม เช่น การยอมรับตามที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ์ หรือใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตลอดจนให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นิติกรไปดำเนินการใดๆ แทน

3.2) กรณีคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีปกครอง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี และไม่มีหน่วยงานเจ้าของเรื่องโดยตรง ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในการนำคำสั่งศาลปกครอง ที่ให้ทำคำให้การแก้คำฟ้องเสนอนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความเห็น แล้วยกร่างคำให้การยื่นต่อศาลปกครอง และดำเนินการหรือประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป

3.3) กรณีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถูกฟ้องคดีปกครองในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรี และไม่มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบโดยตรง ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ในการนำคำสั่งศาลปกครองที่ทำคำให้การแก้คำฟ้อง เสนอนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้ให้ประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความเห็น แล้วยกร่างคำให้การยื่นต่อศาลปกครอง และดำเนินการหรือประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีต่อไป

ดังนั้นในปัจจุบัน การดำเนินคดีของรัฐจะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. 2561 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ดังกล่าว

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)