สิทธิคนพิการด้านการศึกษา ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ


ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on thi Rights of Persons with Disabilities : CRPD) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 เพื่อส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง ส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการทุกรูปแบบ

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ข้อ 24 ได้กำหนดสิทธิด้านการศึกษาไว้ดังนี้
1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของคนพิการด้านการศึกษา และเพื่อให้สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้จริงโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน ให้รัฐภาคีประกันการมีระบบการศึกษาแบบเรียนร่วมในทุกระดับและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเพื่อ
   (A) การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์และการสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตนอย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างการเคารพในสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานและความหลากหลายของมนุษย์
   (B) การให้คนพิการได้พัฒนาบุคลิกภาพ พรสวรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ของตน รวมทั้งความสามารถด้านจิตใจและร่างกายให้ถึงศักยภาพสูงสุด
   (C) การให้คนพิการสามารถเข้ามีส่วนร่วมในสังคมเสรีได้อย่างมีประสิทธิผล

2. เพื่อให้สามารถใช้สิทธินี้ได้จริง ให้รัฐภาคีประกันว่า
   (A) คนพิการจะไม่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาทั่วไปเพราะเหตุแห่งความพิการ และเด็กพิการนั้นจะไม่ถูกกีดกันจากการศึกษาภาคบังคับ ระดับประถมศึกษา และโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพราะเหตุแห่งความพิการ
   (B) คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา แบบเรียนร่วมที่มีคุณภาพ และโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่
   (C) คนพิการจะได้รับความช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลกับความต้องการของแต่ละบุคคล
   (D) คนพิการได้รับการสนับสนุนตามที่ต้องการในระบบการศึกษาทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาอย่างมีประสิทธิผลแก่คนพิการนั้น
   (E) มีการจัดมาตรการสนับสนุนเฉพาะบุคคลที่มีประสิทธิผลแก่คนพิการในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการ และการพัฒนาทางสังคมอย่างสูงสุด และสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเต็มที่

3. ให้รัฐภาคีดำเนินการให้คนพิการสามารถเรียนรู้ทักษะในการพัฒนาชีวิตและทักษะทางสังคม เพื่อให้สามารถเข้าร่วมในการศึกษาได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมและในฐานะเป็นสมาชิกของชุมชน เพื่อการนี้ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมอันรวมถึง
   (A) การส่งเสริมการเรียนอักษรเบรลล์ ตัวอักษรทางเลือกอื่น ช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริม และทักษะการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและเคลื่อนไหว และการส่งเสริมการสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และระบบพี่เลี้ยง
   (B) การส่งเสริมให้มีการเรียนภาษามือ และการสนับสนุนเอกลักษณ์ทางภาษาของชุมชนคนหูหนวก
   (C) การประกันว่าการให้การศึกษาแก่บุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กตาบอด หูหนวก หรือตาบอดหูหนวก จะมีภาษาและวิธีสื่อสารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล และในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการและการพัฒนาทางสังคมได้อย่างสูงสุด

4. เพื่อเป็นการช่วยประกันการใช้สิทธินี้ได้จริงในการดังกล่าว ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อจ้างครู รวมทั้งครูพิการที่มีความชำนาญในการใช้ภาษามือและ/หรืออักษรเบรลล์ และจะฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในทุกระดับการศึกษา การฝึกอบรมดังกล่าวจะบรรจุการตระหนักเรื่องความพิการไว้ และการใช้ช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารทางเลือก และการสื่อสารเสริมที่เหมาะสม เทคนิคสื่อ และวิธีการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนคนพิการ

5. ให้รัฐภาคีประกันว่าคนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาทั่วไปในระดับอุดมศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ การศึกษาผู้ใหญ่ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปราศจากการเลือกปฏิบัติและบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น เพื่อการนี้ให้รัฐภาคีประกันว่าจะจัดให้มีความช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลแก่คนพิการ

ที่มา กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และพิธีกสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2560


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)