ป.ป.ช. ไต่สวนการกระทำผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังเกิดเหตุ 14 ปี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2564)


ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกานี้ เป็นการวินิจฉัยอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการยกกรณีการกระทำผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นไต่สวน หลังจากเกิดเหตุแล้ว 14 ปีเศษ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

ขณะเกิดเหตุ ปี 2546 จำเลยได้ดำเนินการประกวดราคาซื้อรถตักฯ เป็นเหตุทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยเป็นนายกเทศบาลตำบลสมัยที่ 2 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 24 มีนาคม 2547 เมื่อลงเลือกตั้งในสมัยต่อมา ก็ได้รับเลือกติดต่อกันอีกหลายสมัย จนถึงปี 2561

โดยในปี 2560 มีผู้ร้องเรียนการกระทำเมื่อปี 2546 ดังกล่าว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงเข้าตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้ว มีคำสั่งแต่งตั้งองค์คณะพนักงานไต่สวนทำการไต่สวนข้อเท็จจริง วันที่ 30 มีนาคม 2561 องค์คณะพนักงานไต่สวนข้อเท็จจริงแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จนกระทั่งวันที่ 14 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาว่าการกระทำของจำเลยมีมูลตามที่ถูกกล่าวหา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา 151 มาตรา 157

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งของนายกเทศมนตรีมีกำหนดเวลาตามที่พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 บัญญัติไว้ในมาตรา 48 สัตต ว่าให้นายกเทศมนตรีดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้ง และมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ส่วนการพ้นจากตำแหน่งเมื่อใดนั้น บัญญัติในมาตรา 48 ปัญจทศ ว่านายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ถึงคราวออกตามวาระ... ดังนั้น การที่จำเลยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีติดต่อกันมาหลายสมัย การพ้นจากตำแหน่งย่อมต้องนับจากเมื่อดำรงตำแหน่งครบตามวาระนั้น ๆ

แต่อำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กฎหมายได้บัญญัติไว้ในมาตรา 84 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่ง ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเกินห้าปีแล้ว ย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้วหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นกระทำผิดขึ้นไต่ส่วนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่กรณี กฎหมายฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะให้การปราบปรามการทุจริตเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ 
ดังนั้น ตราบใดที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ แม้เป็นวาระต่อมาหลังจากวาระดำรงตำแหน่งที่ความผิดเกิดก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดดังกล่าวได้เสมอ

เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า การกระทำความผิดของจำเลยเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 นับถึงวันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกกรณีการกระทำความผิดของจำเลยขึ้นไต่สวนในปี 2561 จึงเป็นระยะเวลาผ่านมาแล้ว 14 ปีเศษ แต่ความผิดที่ถูกกล่าวหานั้น คือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 มีอายุความ 15 ปี และ 20 ปี ตามลำดับ ดังนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกกรณีการกระทำความผิดของจำเลยขึ้นไต่สวน จึงยังอยู่ในอายุความฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งสองมาตราดังกล่าว อีกทั้งจำเลยกำลังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ด้วย การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2564. เนติบัณฑิตยสภา, หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 5, หน้า 1108 - 1117

- ประมวลกฎหมายอาญา
  มาตรา 151 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษ..."
  มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ..."

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
  มาตรา 84 วรรคสี่
บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่ง ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปเกินห้าปีแล้ว ย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้วหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นกระทำผิดขึ้นไต่สวนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วแต่กรณี"

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 
  มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 55 การกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ ให้กล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เกินห้าปี แต่ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้วหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว แล้วแต่กรณี"
  มาตรา 55 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา เว้นแต่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
  (1) เรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกินสิบปีนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่มีการกล่าวหา
  (2) เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีการดำเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม
  (3) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาไปแล้วเกินห้าปี ในกรณีที่มีการพิจารณาเรื่องภายในกำหนดเวลา แม้จะพ้นกำหนดเวลาห้าปีแล้วก็ให้มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้"


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)