องค์กรบริหารศาลยุติธรรม


ศาลยุติธรรมประกอบด้วยองค์กรบริหารงานของศาล จำนวน 3 องค์กร ได้แก่

1. คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 36

ก.ต. เป็นองค์คณะทำหน้าที่บริหารงานบุคคลของข้าราชการตุลาการ (ลักษณะทำนองเดียวกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.) มีบทบาทหน้าที่ในการวางแผนกำลังคนในด้านตุลาการ เช่น การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง การสรรหาบุคลากร การบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากร การควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบแห่งจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัยโดยอาศัยระบบคุณธรรม เพื่อให้ผู้พิพากษามีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองให้มีความอิสระอย่างแท้จริง

ก.ต. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกา 6 คน ศาลชั้นอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาทั่วประเทศซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการอีก 2 คน มีวาระในการดำรงตำแนห่งคราวละ 2 ปี

2. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 10

ก.บ.ศ. เป็นองกรบริหารที่ทำหน้าที่คล้ายคณะรัฐมนตรีในฝ่ายบริหาร เป็นผู้กำหนดโครงสร้างของสำนักงานศาลยุติธรรม การแบ่งส่วนราชการภายในองค์กร วางระเบียบข้อบังคับในการบริหารราชการ ให้ความเห็นชอบแก่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการ ให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการงบประมาณและพัสดุ กำกับดูแลการบริหารราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน รวมทั้งมีอำนาจสั่งยับยั้งการบริหารราชการที่ไม่ถูกต้องได้ ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง ยุบเลิก หรือเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาล กำหนดจำนวนผู้พิพากษาในแต่ละศาลให้เหมาะสมตามความจำเป็นของทางราชการ

ก.บ.ศ. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาทั่วประเทศ ชั้นศาลละ 4 คน กับบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิด้านงบประมาณ ด้านพัฒนาองค์กร หรือด้านบริหารจัดการที่ประธาน ก.บ.ศ. และ ก.บ.ศ. ประจำศาลเลือกมาไม่น้อยกว่า 2 คน แต่ไม่เกิน 4 คน โดยกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี

3. คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 18

ก.ศ. เป็นองค์คณะที่มีบทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการศาลยุติธรรม ตั้งแต่การกำหนดสายงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจำเป็นในการปฏิบัติงาน สร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับกำหนดตำแหน่ง วางแผนอัตรากำลังคน การสรรหาบุคลากร กำหนดวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การบรรจุแต่งตั้ง สิทธิประโยชน์ ค่าตอบแทน การพัฒนาบุคลากร วินัย การลา และสวัสดิการอื่น ๆ

ก.ศ. ประกอบด้วย ประธานศาลอุทธรณ์เป็นประธานโดยตำแหน่ง รองประธานศาลฎีกาซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ข้าราชการตุลาการซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก ก.ต. ชั้นศาลละ 1 คน ข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสขึ้นไป ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป ประเภทอำนวยการหรือประเภทบริหาร ที่ได้รับเลือกจากข้าราชการศาลยุติธรรมที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับชำนาญงานขึ้นไป ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการขึ้นไป ประเภทอำนวยการระดับต้นขึ้นไป และประเภทบริหารระดับต้นขึ้นไป จำนวน 5 คน และบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาองค์กร ด้านการบริหารงานบุคคลหรือด้านการบริหารจัดการ ที่ ก.ศ. เลือกมาไม่เกิน 3 คน โดยคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี

ที่มา 
- หนังสือแนะนำศาลยุติธรรม
- คู่มือการติดต่อราชการศาลยุติธรรม ฉบับประชาชน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)