ริบรถพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วง ซึ่งบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2562)


คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง มาตรา 73/2 และริบของกลางคือ รถบรรทุกพ่วง และตัวรถกึ่งพ่วง เนื่องจากบรรทุกน้ำหนักเกิน 800 กิโลกรัม

ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้คืนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางแก่ผู้ร้อง

พนักงานอัยการโจทก์ ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถบรรทุกพ่วง และตัวรถกึ่งพ่วง ของกลาง จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง วันเกิดเหตุจำเลยนำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางไปบรรทุกมันสำปะหลังไปส่งที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ในทางการที่จ้าง ระหว่างทางเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหาใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลาง

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องและนางสาว น.ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน 

การที่ผู้ร้องนำสืบโดยอ้างว่าได้มีการกำชับมิให้จำเลยนำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถบรรทุกพ่วงไปใช้ผิดกฎหมายหรือบรรทุกน้ำหนักเกินแล้ว ก็เป็นเพียงวิธีการควบคุมเบื้องต้นและเป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ตรวจตราโดยหาวิธีอื่นมาควบคุมมิให้จำเลยบรรทุกน้ำหนักเกิน 

ส่วนการที่ผู้ร้องนำสืบโดยอ้างว่า ก่อนจำเลยจะนำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางไปแล่นบนทางหลวงแผ่นดิน จำเลยได้นำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางไปชั่งน้ำหนักที่ลานมันทรัพย์สมบูรณ์ แล้วน้ำหนักไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ผู้ร้องคงมีเพียงจำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสืบสนับสนุนว่าได้มีการตรวจชั่งน้ำหนักจริงดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ทั้งที่นางสาว น. ก็เบิกความรับว่าจำเลยจะต้องมีใบชั่งน้ำหนักมาแสดงแก่พยาน 

และแม้หากจะฟังได้ว่ามีการนำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางไปตรวจชั่งน้ำหนักจริงก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างให้จำเลยไปตรวจน้ำหนักรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางที่สถานที่ตรวจชั่งน้ำหนักของเอกชนซึ่งมีมาตรฐานแตกต่างกับทางราชการ จนทำให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินไปถึง 800 กิโลกรัมนั้น ก็ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องปล่อยปละละเลยจนทำให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกพ่วงและตัวรถกึ่งพ่วงของกลางบรรทุกมันสำปะหลังน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6260/2562

- พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
  มาตรา 61 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เพื่อรักษาทางหลวง ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย"

  มาตรา 73/2 บัญญัติว่า "ผู้ใด..ฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง... ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

- ประมวลกฎหมายอาญา
  มาตรา 33 บัญญัติว่า "ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
  (1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
  (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
  เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด"

  มาตรา 36 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 ...ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)