อายุความเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีมีการดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา


คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีความเห็นเรื่องอายุความในการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในกรณีทั่วไปและกรณีมีการดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ดังนี้

1. กรณีทั่วไป
การเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อหน่วยงานของรัฐ ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

เว้นแต่กรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

แต่ทั้งนี้ในทุกกรณีต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

"การรู้" 
ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว อาจรู้ได้ใน 2 กรณี คือ 1) รู้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ หรือ 2) รู้จากรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางะละเมิด โดยถือตามกรณีที่รู้ก่อนเป็นหลักในการเริ่มนับอายุความ

กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งมติชี้มูลว่าเจ้าหน้าที่กระทำความผิดทางวินัยและความผิดทางอาญา ต้องถือว่าหัวหน้าหน่วยงานนั้น ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐแห่งนั้นได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชีมูลความผิดทางอาญา เว้นแต่จะมีข้อเท็จจริงอื่นซึ่งแสดงว่าหัวหน้าหน่วยงานได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดก่อนหน้านั้นแล้ว

สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา ก็ต้องถือเอาวันที่หัวหน้าหน่วยงานรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นวันเริ่มนับอายุความ

2. กรณีมีการดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
จะต้องพิจารณาอายุความ ตามมาตรา 448 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาประกอบด้วย ซึ่งบัญญัติว่า "แต่ถ้าเรียกค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ"

หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดและมีการฟ้องคดีให้ผู้กระทำต้องรับผิดในหลายฐานความผิด ทั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอายุความแตกต่างกัน การพิจารณาอายุความในการเรียกให้เจ้าหน้าที่แต่ละราย จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี เช่น หากศาลในคดีอาญาเห็นว่า เจ้าหน้าที่รายใดกระทำความผิดทางอาญาที่ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อายุความในการเรียกให้เจ้าหน้าที่รายนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คือ 15 ปี ตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

แต่หากศาลในคดีอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่รายใดไม่ได้กระทำความผิดทางอาญา แต่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิด อายุความในการเรียกให้เจ้าหน้าที่รายนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนย่อมเป็นไปตามกฎหมายนั้นที่กำหนดความรับผิดทางละเมิดบัญญัติไว้ โดยไม่อาจนำอายุความในการฟ้องคดีอาญามาพิจารณาได้

อย่างไรก็ดี แม้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา หากศาลในคดีอาญายกฟ้องคดีอาญาทั้งหมด การดำเนินคดีแพ่งก็ต้องกลับมาใช้อายุความตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความเสี่ยงที่ศาลอาจพิพากษายกฟ้องคดีอาญาได้ จึงควรถือเอาอายุความตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นหลักในการดำเนินคดี

ที่มา ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ 1625/2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)