ใส่รหัส (PIN) เบิกถอนเงินสด เท่ากับลงลายมือชื่อตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556)


ตัวอย่างคดีนี้ มีปัญหาว่า การที่จำเลยเบิกเงินสดจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติ เป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืม อันจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ?

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยนำบัตรกดเงินสด ไปใช้เบิกถอนเงินสดรวม 8 ครั้ง ซึ่งการถอนเงินสดดังกล่าวจำเลยจะต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน (PIN) 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ 6 ถึง 36 เดือน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ (5,000 ถึง 20,000 บาท ต่อรายการ) และรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐานซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย แสดงว่า จำเลยสมัครใจกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด

กรณีดังกล่าวถือเป็นธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว และมาตรา 9 บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน... เมื่อโจทก์มีมาแสดงประกอบใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าว จึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ประกอบทั้งจำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ รวม 11 รายการ โจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อท้ายเอกสารมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


ที่มา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)