ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 114/2564)


เอกชนยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2 ต่อศาลปกครองอุดรธานี และศาลมีคำสั่งกำหนดให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยฟ้องว่าตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ออกคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว อ้างว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในเขตเขา ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เพิกถอนโฉนด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินตามที่ได้เพิกถอนไปให้แก่ผู้ฟ้องคดี

ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า โฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในพื้นที่ที่อยู่ในเขตเขา ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ว่าเจ้าของที่ดินเดิมและผู้ฟ้องคดีจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้กับรัฐได้

คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่เหตุแห่งการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดิน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่าโฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาท เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งยังไม่อาจหาข้อยุติกันได้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน 

แม้ผู้ฟ้องคดีตั้งรูปเรื่องในการฟ้องคดีโดยมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นของรัฐ 

ส่วนคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ออกโฉนดที่ดินตามที่ได้เพิกถอนไปให้แก่ผู้ฟ้องคดี ก็ล้วนแต่เป็นเพียงผลต่อเนื่องในการวินิจฉัยเรื่องสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น 

ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ที่มา คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 114/2564

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)