ฟ้องเพิกถอนการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564)


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น 

เมื่อข้อบังคับจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อ ส่วนข้อ 3 ระบุด้วยว่า การโอนหุ้นนั้น ผู้จะโอนจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน และหลังจากนั้นแล้ว 30 วัน หากไม่มีผู้ใดประสงค์จะรับโอน จึงจะโอนให้แก่บุคคลภายนอกได้ และจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการด้วย 

แม้จำเลยที่ 1 ไม่มีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นแต่ละราย แต่เมื่อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 มีการออกเลขหมายใบหุ้นแล้ว กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ด้วย และแม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมการ แต่เมื่อข้อบังคับบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้และผูกพันเป็นสัญญาในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทกำหนดให้การโอนหุ้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ย่อมเป็นหน้าที่ของบริษัทต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริษัทเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับ 

การไม่มีคณะกรรมการบริษัท มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังกล่าว ทั้งข้อบังคับจำเลยที่ 1 มิได้มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการโอนหุ้นให้แก่บุคคลภายในครอบครัวหรือการโอนหุ้นให้แก่บุตรแล้วมิต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 3 

ดังนั้น การที่ จ. โอนหุ้นตามฟ้องให้จำเลยที่ 3 บุตรของ จ. ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเดิมแต่เป็นบุคคลภายนอก โดยมิได้บอกกล่าวให้แก่โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมคนอื่น ๆ ทราบ เพื่อให้โจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมมีโอกาสรับโอนหุ้นจาก จ. ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เสียก่อน จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2564

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
   มาตรา 1129
บัญญัติว่า "อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
   การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
   การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)