กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ควบคุมค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนในระบบ (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 1361/2564)


ประเด็นหนึ่งจากข้อหารือเรื่อง การออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชน คือ กระทรวงศึกษาธิการจะมีแนวทางป้องกันมิให้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนในระบบ ที่มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร อย่างไร ?

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) มีความเห็นว่า แม้โรงเรียนเอกชนในระบบจะมีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นได้ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550

แต่เพื่อป้องกันมิให้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนในระบบที่มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เห็นว่า การกำหนดค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร และโรงเรียนในระบบดังกล่าวไม่สามารถแสดงได้ว่ามิได้เป็นการแสวงหากำไรเกินควร กช. มีอำนาจสั่งให้ลดค่าธรรมเนียมนั้นลงตามที่เห็นสมควรได้ตามมาตรา 33

และในกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนในระบบกำหนดดังกล่าว เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร จะสั่งให้โรงเรียนในระบบลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงตามที่เห็นสมควรก็ได้ ตามมาตรา 34

นอกจากนี้มาตรา 95 บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมอบหมาย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมอบหมาย เป็นผู้อนุญาตตามมาตรา 4 มีอำนาจสั่งการให้โรงเรียนในระบบดำเนินการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย 

ดังนั้น กระทรวงศึกษาจึงมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่จะป้องกันมิให้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชนในระบบ อันเป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควรอยู่แล้ว

ที่มา
- ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1361/2564 ส่งพร้อมหนังสือที่ นร 0906/203 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2564

พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550
  มาตรา 32 บัญญัติว่า "การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนในระบบ ให้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการการศึกษา ค่าตอบแทนครูที่มีความรู้และความสามารถที่ดี และค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการขยายกิจการและผลตอบแทน
  ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผยในโรงเรียนในระบบ และโรงเรียนในระบบจะเรียกเก็บเงินอื่นใดจากผู้ปกครองหรือนักเรียนนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งไม่ได้"
  มาตรา 33 บัญญัติว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นตามมาตรา 32 ของโรงเรียนในระบบ มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร และโรงเรียนในระบบดังกล่าวไม่สามารถแสดงได้ว่ามิได้เป็นการแสวงหากำไรเกินควร คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ลดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นดังกล่าวลงตามที่เห็นสมควรได้"
  มาตรา 34 บัญญัติว่า "ในกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่า ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนในระบบกำหนดตามมาตรา 32 เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร จะสั่งให้โรงเรียนในระบบลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงตามที่เห็นสมควรก็ได้"
  มาตรา 95 บัญญัติว่า "โรงเรียนในระบบใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต หรือจัดการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งให้แก้ไขภายในเวลาที่กำหนด
  โรงเรียนในระบบใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งให้โรงเรียนในระบบงดรับนักเรียนใหม่ หรือให้หยุดดำเนินกิจการตามใบอนุญาตทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว หรือสั่งการอย่างอื่นตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติการณ์ที่กระทำผิด
  การสั่งการตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)