หน่วยงานของรัฐมีเอกสิทธิ์ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างก่อนมีการลงนามในสัญญา โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2562)


คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2562 สืบเนื่องมาจาก ศาลปกครองขอนแก่นส่งความเห็นเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 โดยสรุปข้อเท็จจริงดังนี้

โรงเรียนศรีโกสุมวิทยามิตรภาพที่ 209 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 ได้ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง จ้างเหมาก่อสร้างโรงอาหาร - หอประชุม แบบ 101ล27 (พิเศษ) ชั้นบนปรับปรุงเป็นโรงพลศึกษา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ต่อมาได้ประกาศผลให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด โกสุมก่อสร้าง เป็นผู้ชนะการเสนอราคาและมีหนังสือแจ้งให้ลงนามสัญญา ในช่วงเวลาดังกล่าวโรงเรียนได้แจ้งยกเลิกการประกาศรายชื่อผู้ชนะและยกเลิกการแจ้งลงนามสัญญา เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โกสุมก่อสร้าง เสนอรายละเอียดและปริมาณงานไม่ตรงตามรูแบบรายการในเอกสาร

ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติให้การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่ง เป็นเอกสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐ ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้ แต่การมีเอกสิทธิ์ดังกล่าว ไม่ได้หมายความรวมถึงการที่รัฐไม่ต้องรับผิดหรือปราศจากความรับผิดชอบ เพราะรัฐยังคงต้องเยียวยาและรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หากการยกเลิกไม่เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง และเกิดความเสียหาย กรณีเช่นนี้ก็ย่อมไม่มีองค์กรใดที่จะมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เลย ดังนั้น พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 วรรคสอง ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 (3) และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 41 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยมุ่งหมายเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลและชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารสาธารณะของรัฐ การเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และการฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำ ซึ่งมาตรา 41 (3) บัญญัติให้บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

สำหรับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ โดยบทบัญญัติในหมวด 6 ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานของรัฐสามารถประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้

มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่ให้หน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว ก่อนมีการลงนามในสัญญาสามารถประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ โดยกำหนดเงื่อนไขของเอกสิทธิ์ไว้ 4 กรณี ซึ่งหมายความว่า ก่อนลงนามในสัญญา การจัดซื้อจัดจ้างใดที่มีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) หน่วยงานของรัฐสามารถประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้น ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานอขงรัฐได้ กรณีดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะสามารถยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างได้ในทุกกรณี แต่หมายถึงการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างก่อนลงนามในสัญญา และหน่วยงานของรัฐจะต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขและขอบเขตที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) หรือ (4) เท่านั้น อันทำให้การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่จะใช้เอกสิทธิ์เพื่อการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง มีขอบเขตที่จำกัดและต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่กำหนดตามหลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง

มาตรา 67 วรรคสอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่มุ่งประสงค์ให้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานของรัฐมีเอกสิทธิ์ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างก่อนลงนามในสัญญา เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือผู้เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้นไปกว่าการปล่อยให้มีการลงนามในสัญญาต่อไปแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียหายตามมาภายหลัง จึงเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผลอันชอบธรรม มิได้สร้างภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ แต่จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ อย่างไรก็ตาม หากการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ยื่นข้อเสนอย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจตรวจสอบตามหลักความชอบด้วยกฎหมายได้ 

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ย่อมเห็นได้ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้น บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 67 วรรคสอง จึงเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะ อันจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของประเทศเป็นไปอยางมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ แม้จะกระทบสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประกอบการอยู่บ้าง หากแต่เมื่อชั่งน้ำหนักกับประโยชน์ของรัฐและประโยชน์สาธารณะที่ประชาชนจะได้รับจากการให้บริการสาธารณะยังอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม มิได้สร้างภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งยังเป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรืแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 (3)

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ 
- พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
  มาตรา 67 บัญญัติว่า "ก่อนลงนามในสัญญา หน่วยงานของรัฐอาจประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
  (1) หน่วยงานของรัฐนั้นไม่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างนั้นต่อไป
  (2) มีการกระทำที่เข้าลักษณะผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือที่ได้รับการคัดเลือกมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือมีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น หรือขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือสมยอมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นหรือเจ้าหน้าที่ในการเสนอราคา หรือส่อว่ากระทำการทุจริตอื่นใดในการเสนอราคา ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
  (3) การทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
  (4) กรณีอื่นในทำนองเดียวกับ (1) (2) หรือ (3) ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  การยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคหนึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐ ผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกยกเลิกนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากหน่วยงานของรัฐไม่ได้
  เมื่อมีการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งให้ผู้ประกอบการซึ่งมารับหรือซื้อเอกสารเชิญชวนทุกรายทราบถึงเหตุผลที่ต้องยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น
  ในกรณีที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่สองรายขึ้นไป มิให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐนั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือมีส่วนได้เสียกับหน่วยงานของรัฐอื่นตาม (2)
  ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานของรัฐตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด และให้ปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐนั้น ในการนี้ หน่วยงานของรัฐจะเผยแพร่ประกาศดังกล่าวโดยวิธีการอื่นด้วยก็ได้"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)