5 คณะกรรมการ ใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562


พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 บัญญัติให้มีคณะกรรมการ 5 ชุด (ไม่รวมคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ได้แก่
  1. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 
  2. คณะกรรมการสรรหา (ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)
  3. คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  4. คณะกรรมการสรรหา (ประธานกรรมการและกรรมการผุ้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับสำนักงานฯ)
  5. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

1. คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 17 คน (มาตรา 8) ประกอบด้วย
  (1) ประธานกรรมการ
  (2) ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองประธานกรรมการ
  (3) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
  (4) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
  (5) เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมการ
  (6) อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรรมการ
  (7) อัยการสูงสุด กรรมการ
  (8) - (16) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน
  (17) เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กรรมการและเลขานุการ
  * ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา

คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่และอำนาจ (มาตรา 16) ดังนี้ 
  1. จัดทำแผนแม่บทการดำเนินงานด้านการส่งเสริม และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน ดำเนินกิจกรรมตามแผนแม่บท ข้อ 1 รวมทั้งจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทดังกล่าว
  3. กำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
  4. ออกประกาศหรือระเบียบ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
  5. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งหรือโอนไปยังต่างประเทศ
  6. ประกาศกำหนดข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นแนวทางให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลปฏิบัติ
  7. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการตรา หรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎที่ใช้บังคับอยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  8. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกาหรือทบทวนความเหมาะสมของพระราชบัญญัติฯ อย่างน้อยทุกรอบ 5 ปี
  9. ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
  10. ตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้
  11. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดทักษะการเรียนรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ประชาชน
  12. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  13. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

2. คณะกรรมการสรรหา (ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) จำนวน 8 คน (มาตรา 9) ประกอบด้วย
  (1) - (2) บุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง 2 คน
  (3) - (4) บุคคลที่ประธานรัฐสภาแต่งตั้ง 2 คน
  (5) - (6) บุคคลที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง 2 คน
  (7) - (8) บุคคลที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้ง 2 คน
  * คณะกรรมการสรรหา 8 คน เลือกกรรมการ 1 คน เป็นประธาน และอีก 1 คน เป็นเลขานุการ

คณะกรรมการสรรหา มีหน้าที่และอำนาจ คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกเสร็จแล้ว ให้แจ้งรายชื่อประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมหลักฐานแสดงคุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งความยินยอมของบุคคลดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้นายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 10)

3. คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 10 คน (มาตรา 48) ประกอบด้วย
  (1) ประธานกรรมการ
  (2) ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ
  (3) เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
  (4) - (9) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน
  (10) เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กรรมการและเลขานุการ
  * ประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา

คณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่และอำนาจ (มาตรา 54) ดังนี้
  1. กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน
  2. ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป การตรวจสอบภายใน รวมตลอดทั้งการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ ของสำนักงาน
  3. อนุมัติแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน
  4. ควบคุมการบริหารงานและการดำเนินการของสำนักงาน และเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  5. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  6. วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของเลขาธิการ ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงาน
  7. ประเมินผลการดำเนินการของสำนักงาน และการปฏิบัติงานของเลขาธิการ
  8. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกำกับ หรือตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

4. คณะกรรมการสรรหา (ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) จำนวน 8 คน (มาตรา 49) ประกอบด้วย บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 
  * คณะกรรมการสรรหา 8 คน เลือกกรรมการ 1 คน เป็นประธาน และอีก 1 คน เป็นเลขานุการ

คณะกรรมการสรรหา มีหน้าที่และอำนาจ คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้คัดเลือกบุคคลครบจำนวนแล้ว ให้แจ้งรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมหลักฐานแสดงคุณสมบัติและการไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งความยินยอมของบุคคลดังกล่าวต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 50)

5. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ (มาตรา 71)
คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะก็ได้ ตามความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องหรือตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเห็นสมควร โดยคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
  (1) ประธานกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
  (2) - (5) กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 4 คน
  * เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน เป็นเลขานุการ ตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการดำเนินงานอื่นของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. 2565 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)

คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ มีหน้าที่และอำนาจ (มาตรา 72) ดังนี้
  1. พิจารณาเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  2. ตรวจสอบการกระทำใด ๆ ของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
  3. ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล
  4. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญหรือตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมอบหมาย

***อ่านเพิ่มเติม กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (คลิกลิงก์)***

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)