การถูกกำจัดมิให้รับมรดก


การเสียสิทธิรับมรดกเพราะถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ 2 กรณี คือ มาตรา 1605 การถูกกำจัดฐานยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดก และมาตรา 1606 การถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรจะรับมรดก

1. การถูกกำจัดฐานยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 บัญญัติว่า 
  "ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
  มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น"


การยักย้าย คือ เปลี่ยนที่หรือนำไปไว้ที่อื่น 
การปิดบัง คือ ไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ว่ามีทรัพย์มรดก ส่วน ฉ้อฉล คือ เจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์อันมิควรได้

การปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกนี้ เป็นการกระทำขึ้นภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กฎหมายถือว่าทายาทประพฤติชั่วต่อเจ้ามรดกหรือทายาทอื่น

หากปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกเท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่มีสิทธิจะได้รับ ทายาทนั้นจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย แต่หากปิดบังยักย้ายน้อยกว่าส่วนที่มีสิทธิจะได้รับ ก็จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ได้ปิดบังยักย้ายเท่านั้น ดังนั้น จะต้องมีการตีราคาทรัพย์มรดกทั้งหมดเป็นเงินตราเสียก่อน

เช่น เจ้ามรดกมีสร้อย 1 เส้น ราคา 10,000 บาท และเงินสดอีก 5,000 บาท มีบุตรเป็นทายาท 3 คน คือ เอ บี และซี ปรากฏว่า บีได้ยักย้ายสร้อยคอไป ส่วนซีเอาเงินสดไป 3,000 บาท กรณีนี้บุตรแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกคนละ 5,000 บาท เมื่อบีได้ปิดบังยักย้ายไปมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ บีจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย ส่วนซีปิดบังยักย้ายไปน้อยกว่าส่วนที่จะได้รับ จึงถูกกำจัดเพียงส่วนที่ได้ปิดบังยักย้ายไปเท่านั้น 

ดังนั้น เอ จะได้รับมรดกในส่วนของตน 5,000 บาท และได้รับส่วนที่บีได้ถูกกำจัดไปอีก 2,500 บาท และได้รับส่วนที่ซีถูกกำจัดไป 3,000 บาท รวม 10,500 บาท ส่วนซีถูกกำจัดเฉพาะส่วนที่ปิดบังยักย้ายเท่านั้น จึงได้รับมรดกในส่วนที่ตนเหลืออยู่ 2,000 บาท และได้รับส่วนที่บีถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยอีก 2,500 บาท รวม 4,500 บาท ส่วนบีไม่ได้รับมรดกเลย

อย่างไรก็ตาม หากเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง แม้จะได้ยักย้ายทรัพย์นั้นไป ก็ไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1605 วรรคสอง

- คำพิพากษาฎีกาที่ 2062/2492 ทายาทคนหนึ่งบอกทายาทอีกคนหนึ่งว่าที่ดินแปลงหนึ่งผู้ตายได้โอนไปแล้ว ความจริงคือไม่ได้โอน แต่ทายาทคนนั้นโอนเป็นของตนเอง เช่นนี้ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกในที่ดินแปลงนั้น และทายาทที่ปิดบังมรดกจะยกอายุความ 1 ปี มาตัดสิทธิทายาทอื่นมิได้ เพราะถือว่าเป็นฝ่ายผิดและถูกกำจัดมิให้รับมรดก แม้ทายาทอื่นจะฟ้องทายาทที่ปิดบังมรดกเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ก็ยังมีสิทธิในทรัพย์มรดก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 433/2528 โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสาม และ น. กับ ส. ต่างเป็นทายาทของเจ้ามรดก จำเลยทั้งสามไปขอรับมรดกที่ดินพิพาท โดยระบุบัญชีเครือญาติว่ามีเฉพาะจำเลยทั้งสาม กับ น. และ ส. รวม 5 คน เท่านั้นที่เป็นทายาท โดยไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามด้วย กรณีนี้ยังไม่ถือเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก

- คำพิพากษาฎีกาที่ 3250/2537 การที่จำเลยซึ่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ยื่นคำร้องขอโอนที่ดินมรดกไปเป็นของจำเลยทั้งหมดโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทราบ มิใช่เป็นการยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดก และขณะที่ยังจัดการมรดกไม่เสร็จจำเลยรับชำระหนี้จากลูกหนี้ของผู้ตายและไม่นำมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งห้าทันที ก็ไม่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเช่นเดียวกัน เพราะการจัดการมรดกยังไม่เสร็จ จำเลยมีอำนาจเก็บเงินดังกล่าวไว้เพื่อแบ่งแก่ทายาทต่อไปได้ จึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก

2. การถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรจะรับมรดก
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606 บัญญัติว่า
  "บุคคลดังต่อไปนี้ ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
  (1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำ ให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
  (2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดก หาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
  (3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียน เพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
  (4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
  (5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
  เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร"

ทายาทอาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้ 5 กรณี อาจถูกกำจัดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายก็ได้ และจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทผู้รับพินัยกรรมก็ได้ 

กรณีตามมาตรา 1606 (1) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ฆ่าเจ้ามรดก หรือพยายามฆ่า ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น หากเจ้ามรดกตายเพราะมีการกระทำโดยประมาท หรือทายาทเจตนาฆ่าบุคคลอื่นแต่พลาดไปถูกเจ้ามรดก หรือทายาทสำคัญผิดตัวคิดว่าเจ้ามรดกคือบุคคลอื่นที่ต้องการจะฆ่า เช่นนี้จะไม่ถูกกำจัดตามมาตรานี้

มาตรานี้ยังรวมถึงการฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตน คือ ถ้าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ จะตัดสิทธิรับมรดกของทายาทนั้นได้ 

กรณีตามมาตรา 1606 (2) จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทายาทมีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานหลักฐานเท็จด้วย

กรณีตามมาตรา 1606 (3) เป็นกรณีที่ทายาทรู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่า แต่ไม่ได้แจ้งความหรือเป็นพยานเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ (ยกเว้นทายาทนั้นอายุไม่ครบ 16 ปีบริบูรณ์ หรือวิกลจริต หรือผู้ที่ฆ่าเป็นสามีภรรยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานโดยตรงของทายาท)

กรณีตามมาตรา 1606 (4) ทายาทที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำหรือเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม ย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดก นอกจากนี้หากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1708 , 1709 และ 1710 

- คำพิพากษาฎีกาที่ 1642-1643/2530 จำเลยเป็นผู้ฉ้อฉลโดยให้เจ้ามรดกพิพม์ลายนิ้วมือในเอกสารพินัยกรรม จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร กับไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดก

กรณีตามมาตรา 1606 (5) เป็นการปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมบางส่วนหรือทั้งหมด

มาตรา 1606 ไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนในการกระทำของทายาท ทายาทจึงต้องเสียสิทธิรับมรดกนั้นเลย ส่วนมาตรา 1606 วรรคสอง เจ้ามรดกอาจถอนการที่ทายาทนั้นเสียสิทธิโดยถูกกำจัดได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร 

ที่มา รองศาสตราจารย์ ดร.วิณัฏฐา แสงสุข, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก, (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่ 4) หน้า 73 - 86

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)