สาระสำคัญ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565


พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กำหนดมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน หน้าที่และอำนาจของสำนักงานคุ้มครองพยาน และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยานเพื่อให้พยานเกิดความเชื่อมั่น ได้รับความคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. พ.ร.บ. ฉบันนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (หรือตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป)

2. แก้ไขบทนิยาม คำว่า "พยาน" จากเดิมหมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้ หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาลในคดีอาญา รวมทั้งผู้ชำนาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน

แก้ไขใหม่ เป็น "พยาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาลในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษและหลบหนี

3. เพิ่มบทนิยามคำว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
  นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง 

4. แก้ไขมาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยาน เกี่ยวกับการแจ้งและวิธีการให้ความคุ้มครองพยาน โดย
แก้ไข มาตรา 6 วรรคสอง จากเดิม "การแจ้งและวิธีการที่เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะให้ความคุ้มครองแก่พยานตามคำขอ และการสิ้นสุดลงซึ่งการคุ้มครองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี"

แก้ไขใหม่ เป็น "การแจ้ง การออกคำสั่ง และวิธีการที่เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะให้ความคุ้มครองแก่พยานตามคำร้อง การประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย และการขยายและการสิ้นสุดซึ่งการคุ้มครองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี"

5. แก้ไขมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นการแก้ไขคดีที่พยานอาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษ โดยแก้ไขมาตรา 8 (2) และ (3) ดังนี้

จากเดิม "(2) คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา"

แก้ไขใหม่ เป็น "(2) คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือคดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา"

และจากเดิม "(3) คดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือพาไปเพื่อการอนาจาร เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี หรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี"

แก้ไขใหม่ เป็น "(3) คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีความผิดฐานพรากเด็กหรือผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี"

6. แก้ไขมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน หน้าที่และอำนาจของสำนักงานคุ้มครองพยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแก้ไขมาตรา 10 จากเดิม "ให้สำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
  (1) ย้ายที่อยู่ หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม
  (2) จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยานหรือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของพยานเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอาจขอขยายระยะเวลาครั้งละไม่เกินสามเดือน แต่ไม่เกินสองปี
  (3) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย
  (4) ดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพหรือให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามที่เหมาะสม
  (5) ช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ
  (6) ดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในระยะเวลาที่จำเป็น
  (7) ดำเนินการอื่นใดให้พยานได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร
  ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว โดยให้ถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และห้ามมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม"

แก้ไขใหม่ เป็น "มาตรา 10 ให้สำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
  (1) ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม
  (2) จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน
  (3) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย
  (4) ดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพ ให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามที่เหมาะสม
  (5) ช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ
  (6) ดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในระยะเวลาที่จำเป็น
  (7) ดำเนินการอื่นใดให้พยานได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร
  ในกรณีตามวรรคหนึ่ง (3) เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับแจ้งจากสำนักงานคุ้มครองพยาน ให้หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานนั้นกำหนด
  ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามที่สำนักงานคุ้มครองพยานแจ้งมา โดยให้ถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และห้ามมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
  การดำเนินการตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด และให้คำนึงถึงการดำรงชีวิตตามปกติของพยานด้วย"

7. เพิ่มเติมเหตุที่ทำให้การคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษสิ้นสุดลง โดยเพิ่มเติม (6) ของมาตรา 12 เป็น "(6) เหตุอื่นใดตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการดำรงชีวิตตามปกติของพยาน"

8. แก้ไขหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคุ้มครองพยาน โดยแก้ไขมาตรา 13 จากเดิม "ให้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองพยานขึ้นในกระทรวงยุติธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานตามมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษ การปฏิบัติที่เหมาะสม รวมทั้งประสานการปฏิบัติงานและข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานตามพระราชบัญญัตินี้"

แก้ไขใหม่ เป็น "มาตรา 13 ให้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองพยานขึ้นในกระทรวงยุติธรรม และให้มีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานตามมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษ การปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพยาน การจัดให้มีการฝึกอบรมการคุ้มครองพยาน รวมทั้งการประสานและร่วมมือกันในการปฏิบัติงานและในด้านข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของพยานตามพระราชบัญญัตินี้
  ในกรณีที่พยานได้มาเป็นพยาน และจากการมาเป็นพยานดังกล่าวเป็นเหตุให้พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สำนักงานคุ้มครองพยานมีอำนาจประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การฝึกอาชีพ การจัดหางาน หรือการจ่ายเงินดำรงชีพที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด"

9. เพิ่มเติมมาตรา 13/1 หน้าที่และอำนาจการตรวจ ค้น ยึด และจับกุม เป็น "มาตรา 13/1 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของพยาน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจค้นตัวบุคคลหรือยานพาหนะที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่อภัยอันตรายหรือคุกคามพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน รวมทั้งมีอำนาจยึดสิ่งของหรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่พยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ในกรณีที่เป็นความผิดทางอาญาให้มีอำนาจจับกุมและแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแห่งท้องที่ที่จับเพื่อดำเนินการต่อไป"

10. แก้ไขเรื่องค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายพยานที่ให้การหรือเบิกความ โดยแก้ไขมาตรา 17 จากเดิม "เมื่อพยานได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือเบิกความต่อศาลแล้ว พยานพึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง แต่ในกรณีที่เป็นพยานโจทก์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ หรือเป็นพยานจำเลย ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง"

แก้ไขใหม่ เป็น "มาตรา 17 เมื่อพยานได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา หรือพนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือเบิกความต่อศาลแล้ว พยานพึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง แต่ในกรณีที่เป็นพยานโจทก์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์หรือเป็นพยานจำเลย ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
  ในกรณีที่พยานเดินทางมาแล้ว แต่มีเหตุทำให้ไม่ได้ให้การหรือขึ้นเบิกความโดยมิใช่เหตุอันเนื่องมาจากตัวพยานเจตนาไม่ให้การหรือเบิกความ หรือมีเหตุสุดวิสัย ให้พยานได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง"

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 4)