สาระสำคัญ ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน (ฉบับเตรียมสอบ)


1. ที่มาของประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน
  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว
  ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ ได้บัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น เป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ และให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ
  คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการ พลเรือน จึงจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตน และรักษา คุณงามความดีที่ข้าราชการต้องยึดถือในการปฏิบัติงาน

2. การใช้บังคับ
  รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะประธาน ก.พ. ได้ประกาศใช้ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ซึ่งในประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
  ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ได้มีการนำประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ด้วยเหตุนี้ ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนจึงใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

3. ข้อพึงปฏิบัติในการรักษาจริยธรรม 7 ประการ
  ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน กำหนดให้ ข้าราชการพลเรือน (รวมทั้งกรรมการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ปฏิบัติงานอื่น) พึงยึดถือปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม 7 ประการ ดังนี้
  (1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่
    - ชาติ (แสดงออกถึงความภูมิใจในชาติ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ)
    - ศาสนา (ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ เคารพในความแตกต่างของการนับถือศาสนา)
    - พระมหากษัตริย์ (เทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์)
    - การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย)

  (2) ซื่อสัตย์สุจริต
    - ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายและทำนองคลองธรรม
    - โปร่งใส ตรวจสอบได้
    - ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
    - รับผิดชอบต่อหน้าที่
    - มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด
    - มีจิตสำนึกที่ดี
    - คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  (3) กล้าตัดสินใจและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
    - กล้าคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
    - กล้าเปิดเผยหรือรายงานการทุจริตประพฤติมิชอบต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ
    - ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ
    - ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์หรือสถานภาพของตนเอง

  (4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
    - ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
    - เสียสละ มีจิตสาธารณะ
    - สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน
    - ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
    - ไม่ประกอบกิจการหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน
    
  (5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน
    - ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว ทันต่อเวลาและสถานการณ์
    - คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของรัฐ
    - รักษามาตรฐานการทำงานที่ดี
    - พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
    - ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
    - เชื่อมั่นในระบบการทำงานเป็นทีม
    - ให้บริการแก่ประชาชนด้วยความเต็มใจ
    - เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

  (6) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม
    - ปราศจากอคติ
    - ไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเหตุผลของความแตกต่าง ทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ สภาพร่างกาย สถานะทางเศรษฐกิจสังคม
    - รักษาความเป็นกลางทางการเมือง โดยไม่อาศัยตำแหน่งหน้าที่ซึ่งอาจมีลักษระเป็นการให้คุณ ให้โทษแก่นักการเมืองและพรรคการเมือง

  (7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างด้วยการเป็นข้าราชการที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
    - ปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน
    - ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพ
    - อ่อนน้อมถ่อมตน
    - ไม่อ้างหรือใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล
    - ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาท หลักคำสอนทางศาสนามาปรับใช้
    - ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี ด้วยการเคารพกฎหมายและมีวินัย

4. การรักษาจรรยาวิชาชีพเฉพาะ
  หากมีกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใด กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนต้องยึดถือหรือปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพไว้โดยเฉพาะ ก็จะต้องรักษาจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนนี้และจะต้องยึดมั่นในจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย

***ขอให้ประสบความสำเร็จในการสอบครับ***

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ26 สิงหาคม 2567 เวลา 14:00

    ข้าราชการปฏิบัติกับผู้ใต้บังคับบันชาแบบพูดให้ผู้ใต้บังคับบันชาเสียชื้อ้สียง

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. การไม่ให้เกียรติผู้อื่น เป็นการลดเกียรติและคุณค่าของตัวเองครับ

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)