คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) (ฉบับเตรียมสอบ)


พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 71/1 - มาตรา 71/10 บัญญัติเกี่ยวกับ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบราชการและงานอื่นของรัฐ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. องค์ประกอบของ ก.พ.ร.
  (1) นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน
  (2) รัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีกำหนด 1 คน เป็นรองประธาน
  (3) ผู้ที่ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มอบหมาย 1 คน เป็นกรรมการ
  (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 10 คน เป็นกรรมการ
  (5) เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นกรรมการและเลขานุการ

2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  2.1 ที่มา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนไม่เกิน 10 คน ดังกล่าว มีที่มาจากการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาจากรายชื่อบุคคลที่ได้ับการเสนอ จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การบริหารธุรกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา อย่างน้อยด้านละ 1 คน (แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 คน)

  2.2 ครม. จะกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน ทำงานเต็มเวลาก็ได้เมื่อมีความจำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผล ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่และค่าตอบแทนให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

  2.3 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม
  - ต้องมีสัญชาติไทย
  - ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  - ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (เว้นแต่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ)
  - ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
  - ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

  2.4 วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

  2.5 การพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งใหม่

  2.6 การพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ได้แก่ ตาย , ลาออก , ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม , ครม. ให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
  - เมื่อตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าง ให้ดำเนินการแต่งตั้งภายใน 30 วัน (เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เหลือไม่ถึง 180 วัน จะไม่แต่งตั้งก็ได้)
  - หากยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
  - กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือได้รับแต่งตั้งเพิ่มขึ้นในระหว่างกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับเวลาที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ยังอยู่ในตำแหน่ง

3. การประชุม
  - ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม (ไม่ว่ากรรมการดังกล่าวจะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานเต็มเวลาหรือไม่)
  - ถ้าประธาน ก.พ.ร. ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธาน ก.พ.ร. ปฏิบัติหน้าที่แทน , ถ้าไม่มีรองประธานหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม
  - การวินิจฉัยชี้ขาด ให้ถือเสียงข้างมาก (1 คน = 1 เสียง) ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เพื่อชี้ขาด

4. สำนักงาน ก.พ.ร.
  - สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ ก.พ.ร. และหน้าที่อื่นที่กฎหมายหรือ ก.พ.ร. กำหนด
  - เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ขึ้นตรงต่อ
นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงาน ก.พ.ร.

5. อำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ร.
  5.1 เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแก่ ครม. เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น รวมถึงโครงสร้างระบบราชการ ระบบงบประมาณ ระบบบุคลากร มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ค่าตอบแทน วิธีปฏิบัติราชการอย่างอื่น ให้เป็นไปตามมาตรา 3/1 โดยจะเสนอแนะให้มีการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการก็ได้

  5.2 เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มิได้อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหารตามที่หน่วยงานนั้นร้องขอ

  5.3 รายงานต่อ ครม. กรณีมีการดำเนินการขัดหรือไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 3/1

  5.4 เสนอแนะต่อ ครม. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการจัดตั้ง การรวม การโอน การยุบเลิก การกำหนดชื่อ การเปลี่ยนชื่อ การกำหนดอำนาจหน้าที่ และการแบ่งส่วนราชการภายในของส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการอื่น

  5.5 เสนอความเห็นต่อ ครม. ในการตราพระราชกฤษฎีกาและกฎ ที่ออกตาม พ.ร.บ.นี้

  5.6 ดำเนินการให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งการฝึกอบรม

  5.7 ติดตาม ประเมินผล แนะนำ เพื่อให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ และรายงานต่อ ครม. พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ

  5.8 ตีความ วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บังคับ พ.ร.บ.นี้ หรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหา (มติของ ก.พ.ร. ตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย)

  5.9 เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด มาชี้แจงหรือแสดงความเห็นประกอบการพิจารณา

  5.10 จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาและจัดระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น เสนอต่อ ครม. เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

  5.11 แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมาย และจะกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่นด้วยก็ได้

  5.12 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.นี้ หรือตามที่ ครม. มอบหมาย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)