ละเมิดอำนาจศาลปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คล.1/2564)


คดีนี้เกิดขึ้นจาก นาย น. ข้าราชการ ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในระดับชำนาญการพิเศษ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ต่อมา ก.พ.ค. วินิจฉัยยกคำร้องทุกข์ นาย น. จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัย ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำพิพากษายกฟ้อง

นาย น. จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยคำอุทธรณ์บางช่วงมีข้อความว่า "คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักนิติรัฐ เกินล้ำออกนอกขอบเขตความชอบด้วยกฎหมาย (ฎีกา 3509/2549) และเจตนาบิดผันอำนาจขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์บทบัญญัติมาตรา 13 (1) และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539" และ "คำพิพากษาดังกล่าว... เจตนาเลี่ยงบาลีในการเขียนคำพิพากษา"

ศาลปกครองชั้นต้น (องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี) พิจารณาคำอุทธรณ์แล้ว เห็นว่าข้อความมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นศาลซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงมีคำสั่งให้ไต่สวนนาย น. (ผู้ถูกกล่าวหา) เกี่ยวกับกรณีที่ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล

นาย น. ให้ถ้อยคำต่อศาลว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ถ้อยคำดังกล่าวมีเจตนาเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แต่เมื่อได้มาทบทวนถ้อยคำแล้วเห็นว่าเป็นการเขียนถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทศาลแต่อย่างใด หากรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่เหมาะสม ก็จะไม่เขียนลงในคำอุทธรณ์

ศาลปกครองชั้นต้น (องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี) พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความดังกล่าว มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นศาลหรือหมิ่นประมาทศาล และเมื่อคำอุทธรณ์ได้ยื่นต่อศาล กรณีจึงถือว่านาย น. ได้กระทำผิดต่อหน้าศาล และถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 8 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ประกอบมาตรา 30 และมาตรา 31 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งลงโทษนาย น. ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยกำหนดโทาปรับตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงได้เสนออธิบดีศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาส่งสำนวนให้องค์คณะอื่นพิจารณามีคำสั่งต่อไป ตามมาตรา 64 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ศาลปกครองชั้นต้น (องค์คณะพิจารณาและสั่งลงโทษ) พิจารณาแล้ว เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าว ไม่ใช่การวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่มีลักษณะเป็นการกล่าวหาและเสียดสีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองและศาลปกครองให้ขาดความน่าเชื่อถือ เสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อนาย น. ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้เรียบเรียงและลงชื่อในคำอุทธรณ์และได้มีการยื่นต่อศาลปกครอง จึงถือว่านาย น. ผู้ถูกกล่าวหา กระทำการในลักษณะโต้แย้งคำพิพากษาของศาลโดยวิธีการใด ๆ ที่มิได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย อันเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาล ตามข้อ 1 ของข้อกำหนดอธิบดีศาลปกครองกลาง เรื่อง การรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 31 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงชอบที่ศาลมีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ตามนัยมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 8 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และเมื่อพิจารณาพฤติการณ์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ปัจจุบันเป็นข้าราชการ.. ย่อมถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีวุฒิภาวะและความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างดี และโดยที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยถูกลงโทษละเมิดอำนาจศาลมาก่อน การกระทำคราวนี้จึงเป็นความผิดครั้งแรก กรณีมีเหตุบรรเทาโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา จึงสมควรลงโทษปรับผู้ถูกกล่าวหา

ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งปรับผู้ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นเงิน 5,000 บาท โดยให้ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ดำเนินการตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งลงโทษกรณีละเมิดอำนาจศาล ว่าถ้อยคำในคำอุทธรณ์ที่มีข้อความว่า "คำพิพากษาดังกล่าวขัดต่อหลักนิติรัฐ เกินล้ำออกนอกขอบเขตความชอบด้วยกฎหมาย" คัดลอกข้อความจากคำพิพากษาฎีกาที่ 3509/2549 เพื่ออ้างอิงหลักกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาอุทธรณ์ มิได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นการใช้ดุลพินิจขององค์คณะพิจารณาคดี และผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำการอันเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งปรับ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกเลิกคำสั่งกรณีละเมิดอำนาจศาล หรือมีคำสั่งปรับในสถานเบา

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้นำบทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเมื่อมีการละเมิดอำนาจศาล ให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งลงโทษได้ดังนี้ (1) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ (2) ไล่ออกจากบริเวณศาล (3) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง บัญญัติว่า การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล พึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสังลงโทษตาม (3) ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ และมาตรา 65 บัญญัติว่า ผู้ใดวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล...

ศาลเห็นว่า ข้อความที่ระบุว่า "...เจตนาบิดผันอำนาจขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์บทบัญญัติมาตรา 13 (1) และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539" และข้อความที่ว่า "คำพิพากษาดังกล่าว... เจตนาเลี่ยงบาลีในการเขียนคำพิพากษา" ทำให้เข้าใจไปว่า ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นที่พิจารณาคดีดังกล่าว พิจารณาคดีไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย บิดเบือนข้อกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือเป็นการแสดงเหตุผลเพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นและเสียดสีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครองชั้นต้นที่พิจารณาคดีดังกล่าว อันมิใช่การวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตด้วยวิธีการทางวิชาการ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และเมื่อคำอุทธรณ์ดังกล่าวได้ยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้น กรณีจึงถือว่าได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 31 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อีกด้วย ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจสั่งลงโทษตักเตือน ลงโทษไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า สมควรได้รับการลงโทษสถานใด เห็นว่าในขณะที่ได้ยื่นอุทธรณ์ เป็นข้าราชการ ระดับชำนาญการ.. อายุ 57 ปี ย่อมมีความรู้ความเข้าใจถึงการดำเนินคดีในศาล รวมถึงย่อมต้องมีวุฒิภาวะอย่างเพียงพอที่จะไม่กระทำการอย่างใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย และโดยที่ไม่ปรากฏว่าเคยถูกลงโทษละเมิดอำนาจศาลมาก่อน การกระทำในครั้งนี้จึงเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก จึงเห็นว่ายังไม่ถึงขนาดที่จะลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษสถานหนัก ดังนั้น ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งปรับเป็นเงิน 5,000 บาท จึงเป็นระดับโทษที่เหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

ที่มา คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คล. 1/2564 เว็บไซต์ศาลปกครอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)