ศาลอาญาพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2564)


คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลอาญา กรณีร่วมกันเสนอราคาโดยกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ โดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และให้คืนคำฟ้องให้โจทก์ไปดำเนินการตามที่บทกฎหมายบัญญัติไว้

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง เพราะศาลอาญารับฟ้องไว้พิจารณาจนกระทั่งมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าศาลอาญาได้ใช้ดุลพินิจรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสาม และศาลฎีกาชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีไปศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเทียบเคียงปรับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 13

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พ.ศ. 2559 ให้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเปิดทำการแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 10 บัญญัติว่า "เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา" ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา จึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว 

และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจคดีนี้ ไม่อาจโอนคดีนี้ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องการโอนคดีไว้ ทั้งต่อมาประธานศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าให้เทียบเคียงปรับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 นั้น เห็นว่า มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ศาล หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น เช่นนี้ เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ต่างเป็นศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เรื่องระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันจะนำมาปรับใช้กับคดีนี้ดังที่โจทก์อ้างได้

ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนับแต่วันฟ้อง และให้คืนฟ้องโจทก์ไปดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงชอบแล้ว พิพากษายืน

ที่มา คำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2564, เนติบัณฑิตยสภา หนังสือคำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2564 ตอนที่ 6 หน้า 1314 - 1320

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)