ไม่ใช่เจ้าหนี้ ฟ้องให้ล้มละลายไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2550)

คดีนี้โจทก์ทั้ง 150 คน ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน มีหน้าที่ควบคุมดูแลเบิกจ่ายเงินฝากตามระเบียบว่าด้วยเงินทุนสวัสดิการและการออมทรัพย์ โจทก์ทั้ง 150 คน ได้ฝากเงินไว้กับกองทุนเงินสวัสดิการออมทรัพย์ ต่อมาหน่วยงานได้ตรวจพบว่ามีการยักยอกเงินฝากไปจำนวน 12,921,065.21 บาท เงินดังกล่าวจำนวน 8,443,700 บาท เป็นเงินที่โจทก์ทั้ง 150 คน นำฝากไว้ จำเลยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และจำเลยได้ยอมรับต่อคณะกรรมการสอบสวนว่ายักยอกเงินดังกล่าวไปจริงและจะชำระเงินคืน จำเลยมิได้ชำระเงินคืนและได้หลบหนีไปจากเคหสถานที่เคยอยู่เพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ยักยอกเงินฝากตามฟ้อง หนี้ที่นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยมีทรัพย์สิน และมิได้หลบหนีไปเสียจากเคหสถานยังคงพักอาศัยในบ้านที่เคยอยู่ ไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้ง 150 คน อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา 

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 150 คน ว่า โจทก์ทั้ง 150 คน จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้หรือไม่ 

เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 9 (2) เจ้าหนี้จะฟ้องบุคคลธรรมดาให้ล้มละลายได้ บุคคลนั้นจะต้องมีความผูกพันเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อยู่

โจทก์ทั้ง 150 คน เป็นสมาชิกกองทุนเงินสวัสดิการออมทรัพย์ โดยมีเงินฝากออมทรัพย์ฝากไว้กับกองทุนเงินสวัสดิการออมทรัพย์ดังกล่าวรวมเป็นเงิน 8,443,700 บาท จึงเป็นสัญญาฝากเงิน

ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งเงินคืนเป็นเงินอันเดียวกับที่รับฝาก ผู้รับฝากมีสิทธิที่จะเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ เงินที่ฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝาก ผู้รับฝากคงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนนั้นเท่านั้น

เงินที่ฝากไว้และจำเลย (เจ้าหน้าที่การเงิน) ยักยอกไป ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้ง 150 คน จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้ง 150 คน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

เมื่อจำเลยไม่มีความผูกพันเป็นหนี้โจทก์ทั้ง 150 คน จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2) 

ที่มา 
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2550 , 
ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 672 บัญญัติว่า "ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
  อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตามผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น"

- พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483
  มาตรา 9 
บัญญัติว่า "เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
  (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  (2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
  (3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566