ขับไล่ออกจากบ้าน ทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2564)

การที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ถือได้ว่าจำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) 

ส่วนการที่จำเลยพาโจทก์และบุตรทั้งสามไปเที่ยวพักผ่อนค้างคืนด้วยกัน เป็นเพียงการดูแลให้ความอบอุ่นแก่บุตรตามสมควรเท่านั้น ยังไม่เพียงพอให้ถือว่าเป็นการที่โจทก์ได้ให้อภัยจำเลยในเหตุที่โจทก์มีสิทธิฟ้องหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518

โจทก์มีอาชีพรับราชการถือว่าเป็นอาชีพมั่นคงมีรายได้แน่นอน ส่วนจำเลยมีอาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาลถือเป็นอาชีพมีรายได้ไม่มั่นคงเท่ากับโจทก์ 

ประกอบกับได้ความว่า โจทก์เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่อยู่กับโจทก์ในทุกเรื่อง ทั้งยังอุปการะดูแลชำระค่าเล่าเรียน และให้ค่าใช้จ่ายรายวันแก่บุตรอีกคนซึ่งอยู่กับจำเลยด้วย บุตรที่อยู่กับโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีลักษณะส่อไปในทางไม่เหมาะสม ส่วนบุตรที่อยูในความดูแลของจำเลยกลับมีอุปนิสัยเปลี่ยนไปในทางก้าวร้าวเอาแต่ใจ และขาดเรียนบ่อยครั้ง 

นอกจากนี้การให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกันได้อยู่ใกล้ชิดร่วมกัน รวมทั้งได้อยู่กับมารดาและพี่สาวซึ่งเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ก่อนน่าจะเป็นผลดียิ่งกว่า 

จึงเห็นควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองเพียงผู้เดียว แต่จำเลยซึ่งเป็นบิดายังคงมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1584/1

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4104/2564 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 1516
 บัญญัติว่า "เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
  ...
  (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้..."
  มาตรา 1518
 บัญญัติว่า "สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไป ในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว"
  มาตรา 1584/1 บัญญัติว่า "บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)