ข้อแตกต่างระหว่างหมิ่นประมาททางแพ่งและทางอาญา

หลักเกณฑ์ความผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่ง บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ส่วนความผิดทางอาญา บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 327 ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 423
บัญญัติว่า "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
  ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่"

ประมวลกฎหมายอาญา
  มาตรา 326
บัญญัติว่า "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

  มาตรา 327 บัญญัติว่า "ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น"

  มาตรา 330 บัญญัติว่า "ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
  แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน"

โดยทั่วไป หลักเกณฑ์การหมิ่นประมาททางแพ่งและทางอาญา มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ เช่น
1. การกระทำ
  การหมิ่นประมาททางแพ่งไม่คำนึงถึงเจตนา ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็ต้องรับผิดถ้าการกระทำเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 423
  ส่วนการหมิ่นประมาททางอาญา จะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ถ้ากระทำโดยไม่เจตนาหรือโดยประมาท ก็ไม่มีความผิด

2. ข้อความที่กล่าว
  การหมิ่นประมาททางแพ่ง การกล่าวหรือไขข่าวข้อความจริง หรือพูดเรื่องจริง ก็ไม่เป็นละเมิด เนื่องจากถ้าเป็นเรื่องจริงผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่เสียหาย
  ส่วนการหมิ่นประมาททางอาญา แม้จะเป็นการกล่าวข้อความที่เป็นจริง ก็อาจต้องรับโทษ ซึ่งมาตรา 330 ห้ามไม่ให้พิสูจน์ในข้อที่ว่าจริงหรือไม่จริงถ้าเป็นการใส่ความกันในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน (ยิ่งจริงยิ่งเจ็บ)

3. ความเสียหาย
  การหมิ่นประมาททางแพ่ง กฎหมายกำหนดความเสียหายไว้กว้าง นอกจากจะเป็นการเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายต่อทางทำมาหาได้ เกียรติคุณ หรือทางเจริญด้วย
  ส่วนการหมิ่นประมาททางอาญา มาตรา 326 กำหนดความเสียหายต่อชื่อเสียง ทำให้ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังเท่านั้น หากผลของการใส่ความทำให้เกิดความเสียหายอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดนี้แล้ว เช่น เสียหายต่อทางทำมาหาได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา

ที่มา สุมาลี วงษ์วิทิต, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2563), หน้า 124-125.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)