สัญญาประกันภัยไม่มีแบบ เกิดขึ้นเมื่อคำเสนอคำสนองตรงกัน ไม่ใช่วันออกกรมธรรม์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12377/2558)

คดีนี้เกิดจากจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ชนกับรถยนต์ของ อ. ซึ่งมีโจทก์บริษัทรับประกันภัยรถยนต์ของ อ. เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อรถยนต์แล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิด

จำเลยฎีกาว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องต่อโจทก์ การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิได้

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจเห็นว่า สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน

ตามคำขอเอาประกันภัยรถยนต์ ระบุว่า อ. ขอเอาประกันภัยรถยนต์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 โดยมีความประสงค์ให้กรมธรรม์มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552

แม้ตามกรมธรรม์จะระบุวันทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 แต่การที่โจทก์ยินยอมระบุให้ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ตามคำขอเอาประกันภัยของ อ. ถือได้ว่าเป็นคำสนองตอบรับคำเสนอตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2551 สัญญาหาได้เกิดขึ้น ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2551 ไม่

เมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2551 จึงเกิดขึ้นในระยะเวลาประกันภัย ส่วนการออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 เป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อการฟ้องร้องบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัย เป็นเวลาภายหลังจากที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายในระยะเวลาที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับ และโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อรถยนต์แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12377/2558 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 867
บัญญัติว่า "อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
  ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง
  กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัย และมีรายการดังต่อไปนี้
  (1) วัตถุที่เอาประกันภัย
  (2) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง
  (3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
  (4) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
  (5) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย
  (6) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
  (7) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
  (8) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
  (9) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
  (10) วันทำสัญญาประกันภัย
  (11) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย"  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)