กรรมการบริษัทเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ต้องกระทำการด้วยตนเอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2532)

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์คือ นาง ก. ลงลายมือชื่อร่วมกับนาย ช. และประทับตราสำคัญของโจทก์ ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าการมอบอำนาจดังฟ้อง ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทจำกัดจะดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ได้ ต้องอาศัยกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทกระทำการแทน และการจะเป็นกรรมการบริษัทจำกัดได้ก็โดยการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดให้เข้าไปดำเนินงานแทนผู้ถือหุ้นคนอื่น

ดังนั้น ผู้ดำเนินงานบริษัทจำกัดได้จึงต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัว และต้องกระทำกิจการด้วยตนเอง จะมอบให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนในฐานะกรรมการหาได้ไม่ 

เมื่อข้อบังคับของบริษัทโจทก์ระบุว่า กรรมการซึ่งลงลายมือชื่อผูกพันบริษัทโจทก์คือ นาง ก. ลงลายมือชื่อร่วมกับ นาย ช. ดังนั้น การที่ นาง ก. ลงลายมือชื่อในนามตนเอง และลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนาย ช. ในคำฟ้อง จึงไม่มีผลผูกพันบริษัทโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) พิพากษายืน

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2532 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา


- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 1144
บัญญัติว่า "บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง"

- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  มาตรา 158
บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี
  (1) ชื่อศาลและวันเดือนปี
  (2) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด
  (3) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ
  (4) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย
  (5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
  ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง
  (6) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
  (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)