7 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับสำนักงาน กขค.

1. เรื่องน่าสนใจเรื่องแรก ก็คือชื่อของสำนักงาน กขค. ซึ่งหลายคนคงสะดุดกับอักษรย่อนี้ไม่น้อย สำนักงาน กขค. นี้ มีชื่อเต็มว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Trade Competition Commission Thailand : TCCT

2. เดิมสำนักงาน กขค. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เป็นหน่วยงานภายในกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และยกเลิกกฎหมายเดิม แล้วจัดตั้งสำนักงาน กขค. ให้เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

3. สำนักงาน กขค. มีหัวหน้าหน่วยงานคือ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (เลขาธิการ กขค.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กขค. ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน รวมถึงเป็นผู้แทนสำนักงาน กขค. ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกด้วย

4. ผู้ที่จะเป็น เลขาธิการ กขค. ได้ จะต้องผ่านกระบวนการสรรหา และเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ กขค. แล้ว จะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งหากพ้นจากตำแหน่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ทั้งนี้จะต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ด้วย หากอายุเกินกำหนดนี้ถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นเลขาธิการ กขค. โดยผู้ที่มีหน้าที่แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กขค. คือ ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

5. คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน รองประธาน 1 คน และกรรมการอื่นอีก 5 คน มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยกรรมการจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเป็นได้เพียง 2 วาระเท่านั้น และมีเลขาธิการ กขค. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ (ไม่ได้เป็นกรรมการ)

6. อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของ กขค. เช่น กำกับดูแลการประกอบธุรกิจ และกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม พิจารณาเรื่องร้องเรียนและสอบสวนการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ดำเนินคดีอาญา กำหนดโทษปรับทางปกครอง ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง เป็นต้น

7. กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า บัญญัติห้ามผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกระทำการต่อไปนี้
  1) กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม
  2) กำหนเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตน ต้องจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น
  3) ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด
  4) แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  ซึ่งการกระทำดังกล่าว มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นการกระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากคณะกรรมการพิจารณาแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจกระทำการดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นได้ นอกจากนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหาย มีสิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายได้ โดยให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมหรือมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค มีสิทธิฟ้องคดีแทนได้

นี่คือ 7 เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับสำนักงาน กขค. ที่ผมเรียบเรียงจากกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าเพียงบางส่วนเท่านั้น รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ยังมีอีกจำนวนมาก ซึ่งมากถึง 92 มาตรา ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเป็นกลไกในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ผู้ที่สนใจสามารถคลิกอ่านกฎหมายฉบับเต็มตามลิงก์นี้ครับ (คลิกดาวน์โหลดไฟล์) หรือจะเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของสำนักงาน กขค. https://tcct.or.th/view/1/Home/TH-TH ได้เลยครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)