ข้อพิพาทจากการพาดสายสื่อสารโทรคมนาคมของ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ อยู่ในอำนาจศาลปกครอง (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 50/2566)

แม้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom Public Company Limited : NT) จำเลย จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แต่จำเลยก็จัดตั้งขึ้นโดยการควบรวมกิจการของ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 

โดยที่มาตรา 152 และมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว จะมีผลทำให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลและเกิดขึ้นเป็นบริษัทใหม่ และทำให้บริษัทที่เกิดจากการควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบทางแพ่งของบริษัทที่ควบเข้ากันทั้งหมด

ดังนั้น จำเลยจึงรับโอนภารกิจ สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเดิมของ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ซึ่งเป็น บมจ. ที่แปรรูปและรับโอนกิจการมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด และอาจเป็น "หน่วยงานทางปกครอง" ประเภทหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองได้ หากได้กระทำการเกี่ยวกับการบริการสาธารณะหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ การดำเนินกิจการทางปกครองเกี่ยวกับการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม 

เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นเรื่องการพาดสายสื่อสารโทรคมนาคม อันเป็นภารกิจตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่เดิมก่อนแปรรูปเป็น บมจ. และเป็นการดำเนินการในฐานะผู้ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 การกระทำของจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการกระทำในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามนัยบทนิยาม "หน่วยงานทางปกครอง" ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำละเมิด โดยการพาดสายและติดตั้งสายสัญญาณบนเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก (เสาไฟฟ้า) ของโจทก์ที่ปักอยู่ริมถนนสายกำลังเอก - บุตาสง (ทางหลวงชนบทหมายเลข 1021) ทางด้านทิศตะวันตก ขนาดความยาว 9 เมตร จำนวน 23 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 

กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ที่มา คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 50/2566, เว็บไซต์สํานักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 (ว่าด้วยสุรา)