อายุความฟ้องไล่เบี้ยทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1152/2566)

บริษัท ร. ยื่นฟ้องกรมที่ดิน กับพวก เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ร. พร้อมดอกเบี้ย กรมที่ดินจึงได้ชำระเงินตามคำพิพากษา

ต่อมากรมที่ดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และกำหนดสัดส่วนความรับผิดของเจ้าหน้าที่ โดยปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งถึงแก่ความตายแล้ว จึงได้มีหนังสือเรียกให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนำเงินมาชำระ และเมื่อไม่นำเงินมาชำระภายในกำหนด กรมที่ดินจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเป็นคดีนี้

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 กรมที่ดินผู้ฟ้องคดีได้ชำระเงินตามคำพิพากษา เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายในผลแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอก ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง
พระราชบัญญัติเดียวกัน โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รายหนึ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2545 การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้ จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิฟ้องทายาทของเจ้าหน้าที่ต่อศาลปกครองโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด ต้องอาศัยอายุความตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ไม่อาจนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสี่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่อาจอ้างมาตรา 193/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเป็นเหตุให้ศาลปกครองรับคำฟ้องที่ขาดอายุความได้แต่อย่างใด และโดยที่การฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ฟ้องคดีโดยตรง มิได้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล และมิใช่คดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และข้อ 30 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องที่ฟ้องทายาทของเจ้าหน้าที่ไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

ที่มา คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1152/2566

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)