คำพิพากษาศาลแรงงานที่ไม่มีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2566)

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือ และต้องมีส่วนสำคัญ 3 ประการ 

ประการแรก ต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีการอุทธรณ์หรือฎีกาในประเด็นนั้น 

ประการที่สอง จะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง 

ประการที่สาม คำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดี และถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่

คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางนำมาใช้วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางอ้างถึงเหตุต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาอย่างชัดแจ้ง คงปรากฏเฉพาะเพียงการนำคำพยานโจทก์และพยานจำเลยมาเรียงต่อกัน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลย โดยไม่ปรากฏถึงเหตุผลของคำวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเหตุใดศาลแรงงานกลางจึงเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนั้น คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเช่นนี้ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐาน และเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา
- พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
  มาตรา 39
บัญญัติว่า "ในกรณีมีประเด็นที่ยังไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลแรงงานจดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกคำแถลงของโจทก์กับคำให้การของจำเลยอ่านให้คู่ความฟัง และให้ลงลายมือชื่อไว้ โดยจะระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังก็ได้ แล้วให้ศาลแรงงานกำหนดวันสืบพยานไปทันที
  ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ให้ศาลแรงงานบันทึกไว้ และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป"
  มาตรา 51 บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น
  ให้ศาลแรงงานส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาไปยังกระทรวงแรงงานโดยไม่ชักช้า"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)