ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลและในมูลละเมิด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566)

โจทก์จะไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ให้รับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิด หรือให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ทำการเป็นตัวแทนหรือทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 

แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด 

ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 37 วรรคสอง และโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 

ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด 

แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม 

แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 

ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบสหกรณ์ น. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อและมิได้ให้บริษัท ภ. จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ที่มา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566 , ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  มาตรา 77
"ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคล หรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอก โดยอนุโลม"
  มาตรา 193/30 "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี"
  มาตรา 812 "ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)