ความเป็นมา สมาชิก และเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

เมื่อปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund) จึงนำมาสู่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 โดยข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อออกจากราชการหรือเกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินก้อน กบข. และบำเหน็จหรือบำนาญ ซึ่งเงินก้อน กบข. เป็นส่วนผสมระหว่างเงินออมของสมาชิก กับเงินสมทบและเงินชดเชยจากบำนาญของรัฐ และผลประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. บริหารจัดการ

สมาชิก กบข. ประกอบด้วยข้าราชการ 13 ประเภท ดังนี้
  1) ข้าราชการพลเรือน
  2) ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
  3) ข้าราชการฝ่ายอัยการ
  4) ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและพนักงานมหาวิทยาลัย
  5) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  6) ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
  7) ข้าราชการตำรวจ
  8) ข้าราชการทหาร
  9) ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  10) ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง
  11) ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  12) ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  13) ข้าราชการในพระองค์

เงินของ กบข. ประกอบด้วยทรัพย์สิน ต่อไปนี้
  1) เงินสะสม คือ เงินออมของสมาชิก โดยส่วนราชการจะทำการหักจากเงินเดือนของสมาชิก เพื่อนำส่ง กบข. เพื่อนำเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ปัจจุบันกฎหมายกำหนดอัตราเงินสะสมขั้นต่ำร้อยละ 3 ของเงินเดือน และสมาชิกสามารถออมเพิ่มได้อีกไม่เกินร้อยละ 27 รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน
  2) เงินสมทบ คือ เงินที่รัฐจ่ายสมทบให้แก่สมาชิกที่ออมเงินสะสม โดยส่วนราชการจะเป็นผู้เบิกจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐในอัตราที่เท่ากับอัตราเงินสะสมขั้นต่ำ ร้อยละ 3 ของเงินเดือน ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือนนำส่ง กบข. เพื่อนำเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิก
  3) เงินประเดิม คือ เงินที่รัฐส่งเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2540 ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข. ตามสูตรที่กำหนด และให้ กบข. จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่สมาชิกเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญ
  4) เงินชดเชย คือ เงินที่รัฐจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิกทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือนในอัตราร้อยละ 2 ของเงินเดือน และให้ กบข. จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญ
  5) เงินสมาชิกพ้นสมาชิกภาพ คือ เงินของสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพซึ่งได้แจ้งความประสงค์ให้ กบข. บริหารเงินต่อหรือขอทยอยรับ โดย กบข. จะบริหารเงินที่ยังไม่ได้ขอรับคืนต่อไป
  6) เงินสำรอง คือ เงินที่รัฐจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐ ส่งเข้าบัญชีเงินสำรองของ กบข. เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการ ในกรณีเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ อาจมีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดให้ กบข. นำเงินสำรองส่งกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และต้องจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชดเชย ส่วนที่นำออกไปคืน กบข. ในปีงบประมาณถัดไป
  ทั้งนี้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปี เข้าบัญชีสำรองทุกปีจนกว่าเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวจะมีจำนวน 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปี หลังจากนั้นให้ตั้งงบประมาณเพื่อให้เงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผล คงระดับ 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการในแต่ละปี แต่หากมีจำนวนเกิน 3 เท่า ให้ กบข. นำเงินส่วนที่เกินนั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
  7) เงินกองกลาง คือ เงินบริจาค โดยเป็นเงินตามบัญชีเงินรายบุคคลที่ไม่มีผู้รับหรือเงินส่วนกลางที่มิใช่ของสมาชิกคนใด

ที่มา สิริโฉม พรหมโฉม. (2567). สาระสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566. ใน จุลนิติ ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม พ.ศ. 2567. (น.243-247). กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 5)