ร่าง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ "ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ...." เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยมีประเด็นสำคัญที่ได้ปรับปรุงจากพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ดังนี้

แก้ไขชื่อกฎหมายใหม่ เป็น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... เพื่อขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ไปถึงการให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชน

โดยมีหลักการสำคัญ 12 ประการ ที่ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการที่รวดเร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้น (Easier) ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (Cheaper) และมีความทันสมัย (Smarter) ดังนี้

1. มีความสะดวกมากขึ้น 
(Faster)

(1) การขยายขอบเขตการดำเนินการนอกเหนือจากงานบริการที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต เพื่อให้ครอบคลุมงานบริการที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชน

(2) การให้ผู้อนุญาตมีการทบทวนกฎหมายทุก 5 ปี ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนการอนุญาตเปลี่ยนเป็นจดแจ้ง การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตโดยคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน รวมทั้งให้มีการทบทวนคู่มือสำหรับประชาชนทุก 2 ปี

(3) การขยายขอบเขตให้ทุกใบอนุญาตสามารถชำระค่าธรรมเนียมแทนการต่ออายุใบอนุญาตได้ กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ให้หน่วยงานออกเป็นกฎกระทรวง

(4) การกำหนดให้กรณีที่เรื่องใดต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาตมากกว่าหนึ่งราย ให้มีการรวมศูนย์อำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายหลายฉบับให้เป็นระบบการอนุญาตหลัก (Super License)

(5) การยกเลิกอายุใบอนุญาตเพื่อให้เป็นใบอนุญาตถาวร หรือขยายอายุใบอนุญาตที่น้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างน้อย 5 ปี

(6) การแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งศูนย์รับคำขอกลางแทนศูนย์รับคำขออนุญาต ซึ่งทำหน้าที่รับคำขอเฉพาะที่ยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้สามารถมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการศูนย์ดังกล่าวได้

2. มีความรวดเร็วมากขึ้น 
(Easier)

(1) การจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast Track) ถือเป็นประโยชน์ และเป็นทางเลือกให้กับประชาชนให้ได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มช่องทางดังกล่าวควรอยู่บนพื้นฐานว่าการให้บริการช่องทางปกติของหน่วยงานต้องมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

(2) การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพิจารณาอนุญาตที่ครบกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในคูู่มือสำหรับประชาชนแล้ว หากหน่วยงานยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตโดยปริยาย

(3) การทดลองประกอบกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมในวงกว้างเป็นการชั่วคราวก่อนได้รับใบอนุญาต

3. มีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง 
(Cheaper)

(1) การกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดให้มีแบบฟอร์มคำขอ ใบอนุญาต หลักฐานการต่ออายุใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาต เป็นภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาตแล้วแต่กรณี ตามที่ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาตร้องขอ

(2) การกำหนดให้กรณีที่ใบอนุญาตหรือหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตชำรุดในสาระสำคัญ สูญหายหรือถูกทำลาย ไม่ต้องยื่นหลักฐานที่แสดงการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ

4. มีความทันสมัย 
(Smarter)
  การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับ "พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565" เพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกันในการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเร่งรัดกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วลดภาระค่าใช้จ่ายจากการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุญาต การปรับเปลี่ยนรูปแบบการอนุมัติ อนุญาต การพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันจะนำไปสู่การลดการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ที่มา / คลิกดาวน์โหลดไฟล์
- ข่าวจากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี วันที่ 2 เมษายน 2567
- คำตอบกระทู้ถามที่ 410 ร. ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141/ตอนพิเศษ 162 ง/หน้า 31/14 มิถุนายน 2567

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)