กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ต่างมีส่วนที่เป็นคุณและโทษอยู่ด้วย (ฎ.434/2568)

ศาลฎีกาแผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุกำหนดโทษจำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) หรือไม่ 

เห็นว่า การกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ต้องเป็นกรณีโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาถึงที่สุดหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ซึ่งบทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดบัญญัติให้ศาลกำหนดโทษหนักเบาตามพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ 

คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ชนิดเกล็ด 1 ถุง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 77.358 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ก่อนลดโทษ ซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงการกระทำของจำเลยว่าเป็นการทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่ตามปริมาณเมทแอมเฟตามีนของกลางที่มีจำนวนดังกล่าว ย่อมแสดงถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย หากจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวออกไป โดยสภาพและพฤติการณ์ย่อมก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90 และต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม เมื่อโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาคือโทษจำคุกตลอดชีวิตหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ศาลต้องกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) 

อนึ่ง กรณีพนักงานส่วนท้องถิ่นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด 

โดยกฎหมายใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 180 ยังคงบัญญัติให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกัน 

ซึ่งคำว่า "...โทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" ก็คือโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นคุณมากกว่ากฎหมายเดิม 

อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 12 บัญญัติว่า "การกำหนดโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 ให้กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงที่สุดได้ไม่เกินห้าสิบปี" แตกต่างจากประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 180 ซึ่งไม่ได้กำหนดโทษจำคุกขั้นสูงสุดไว้ 

ดังนั้น ทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ต่างมีส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษอยู่ด้วย จึงต้องนำมาปรับบทลงโทษจำเลยเฉพาะในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด 

ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

ที่มา ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

ความคิดเห็น

10 บทความยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พนักงานราชการ (ข้อ 1 - 10)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

ข้อกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา