การตั้งชื่อ และการเปลี่ยนชื่อสถานศึกษา


          กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตั้งชื่อโรงเรียน พ.ศ. 2547 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 เพื่อให้การตั้งชื่อของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปในแนวเดียวกันทั่วประเทศ 
          ดังนั้น การตั้งชื่อสถานศึกษาและการตั้งชื่อสถานศึกษาใหม่ หรือการเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2547 จะต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
          1. ให้ใช้คำว่า "โรงเรียน" เป็นคำขึ้นต้น และต่อท้ายด้วยชื่อวัด ชื่อบุคคล ผู้ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ หรือสถานที่อื่นใด หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด
          2. การจะใช้คำขึ้นต้นหรือตั้งชื่อเป็นอย่างอื่น ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด

          สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีมากกว่า 30,000 แห่ง นั้น สพฐ. ได้กำหนด หลักเกณฑ์การขอเปลี่ยนชื่อและกำหนดชื่อสถานศึกษาสังกัด สพฐ. และแนวปฏิบัติการขอเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาสังกัด สพฐ.  ขึ้น ซึ่งสถานศึกษาที่มีความประสงค์จะขอเปลี่ยนชื่อหรือกำหนดชื่อสถานศึกษา จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ ดังนี้

           1. ต้องมีเหตุผล ความจำเป็น ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
              1.1 ชื่อเดิมมีความหมายไม่ดี ไม่สุภาพ หรือไม่เป็นมงคล
              1.2 เพื่อแสดงถึงความเป็นมาทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ดั้งเดิม สามารถพิสูจน์ได้จากเอกสาร บุคคล หรือสถานที่
              1.3 เพื่อไม่ให้ขัดต่อวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
              1.4 ขอเปลี่ยนชื่อเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับพระราชทานชื่อใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานให้
              1.5 ชื่อเดิมไปตรงกัน พ้องกันกับชื่อสถานศึกษาอื่น ทำให้มีผู้เข้าใจผิดเสมอว่าเป็นสถานศึกษาเดียวกัน

          2. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
              2.1 การกำหนดชื่อสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ใช้คำว่า "โรงเรียน" เป็นคำขึ้นต้น และต่อท้ายด้วยชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน วัด ชื่อบุคคล ผู้ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ หรือสถานที่อื่นใด แล้วแต่กรณี
              2.2 การกำหนดชื่อสถานศึกษา ต้องไม่ขัดกับกฎหมาย หรือระเบียบของทางราชการ
              2.3 ไม่เป็นชื่อพระนามของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เว้นแต่ได้รับพระราชทาน หรือสมเด็จพระสังฆราชประทานให้ และไม่เป็นชื่อพ้อง หรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของราชทินนามหรือทายาท
              2.4 ชื่อสถานศึกษาต้องใช้ภาษาไทย
              2.5 ต้องไม่ซ้ำกับชื่อสถานศึกษาอื่น
              2.6 ไม่ควรมีความยาวเกินความจำเป็น
              2.7 สถานศึกษาที่มีความประสงค์จะกำหนดชื่อสถานศึกษา โดยใช้ชื่อผู้บริจาคเป็นชื่อสถานศึกษาหรือกรณีอื่นๆ ต่อท้ายนอกเหนือที่กำหนด ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นรายกรณี

ข้อสังเกตของผู้เขียน
          1. การขอตั้งชื่อสถานศึกษา หรือการตั้งชื่อสถานศึกษาใหม่ (หรือการเปลี่ยนชื่อ) ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก หากต้องการจะตั้งชื่อประการอื่นนอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด
          2. สำหรับสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จะต้องมีเหตุผล ความจำเป็นตามข้อใดข้อหนึ่ง ในข้อ 1.1-1.5 เมื่อมีเหตุผล ความจำเป็นดังกล่าวแล้ว จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2.1-2.6
          3. สำหรับหลักเกณฑ์ ข้อ 2.7 เป็นกรณีที่ต้องการกำหนดชื่อต่อท้ายคำว่า "โรงเรียน" เป็นชื่อของผู้บริจาค หรือกรณีอื่นๆ กำหนดให้ต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก สพฐ. เป็นรายกรณี ซึ่งหากพิจารณาหลักเกณฑ์ในข้อ 1.1-1.5 และในข้อ 2.1-2.7 โดยละเอียดแล้ว การจะเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาเป็นชื่อผู้บริจาคได้ จะต้องมีเหตุผล ความจำเป็นในข้อ 1.1-1.5 เสียก่อน ตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ. กำหนดว่า "สถานศึกษาที่มีความประสงค์จะขอเปลี่ยนหรือกำหนดชื่อสถานศึกษา ต้องมีเหตุผล ความจำเป็นตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1. ... 2. ... 3. ... 4. ... 5. ..." ตามที่ยกมาอธิบายในข้อ 1.1-1.5
          อย่างไรก็ดี ผู้เขียนพบว่าการเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาตามชื่อของผู้บริจาค มักจะดำเนินการขอ สพฐ. พิจารณาเป็นรายกรณีตามข้อ 2.7 โดยมิได้พิจารณาเหตุผล ความจำเป็นตามข้อ 1.1-1.5 แต่อย่างใด จึงอาจเป็นการดำเนินการตั้งชื่อสถานศึกษาไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของ สพฐ. 


#นักเรียนกฎหมาย
10 สิงหาคม 2561


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566