การโอนงบประมาณรายจ่าย

          หลักทั่วไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กำหนดไว้ว่า รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นไม่ได้ 

          อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวกำหนดข้อยกเว้นให้สามารถทำการโอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการได้ 2 ประการ  คือ 
          1. มีการตราพระราชบัญญัติให้โอนงบประมาณรายจ่ายหรือนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้ได้ เช่น
          - พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2507
          - พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2558
          - พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2559
          - พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2560
          - พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2561
          นอกจากนี้ยังมีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือแบ่งโครงสร้างของส่วนราชการ ซึ่งกำหนดให้มีการโอนงบประมาณรายจ่าย เช่น          
          - ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การโอนงบประมาณและข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545
          - ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง การโอนงบประมาณและบุคลากรของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ สังกัดสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ไปเป็นของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
          2. มีการตราพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน ให้โอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการที่ถูกโอนหรือรวมเข้าด้วยกันนั้น ไปเป็นของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับโอนหรือที่รวมเข้าด้วยกัน หรือส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เช่น 
          - พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2547 โดยยุบกรมวิเทศสหการ กระทรวงการต่างประเทศ และโอนงบประมาณไปเป็นของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือส่วนราชการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
          - พระราชกฤษฎีกาโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2546 กำหนดให้โอนงบประมาณเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็เป็นที่มาของการโอนงบประมาณรายจ่ายด้วย เช่น 
          - ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 298 ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งตามกฎหมายไทย ถือว่ามีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ 
          หรือการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งต่อมาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มี คำสั่งที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการโอนงบประมาณเพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษา 


          ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2560-2561 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการโอนงบประมาณรายจ่าย รวม 5 ฉบับ ได้แก่  

          โดยสรุป ตามหลักทั่วไปของกฎหมาย จะโอนงบประมาณรายจ่ายไปใช้ที่อื่นไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นของกฎหมายให้สามารถโอนงบประมาณรายจ่ายได้ 2 ประการ คือ 1. ตราเป็นพระราชบัญญัติ 2. พระราชกฤษฎีกา ส่วนวิธีที่ 3. เป็นการโอนงบประมาณรายจ่ายตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร

#นักเรียนกฎหมาย
21 กันยายน 2561

อ้างอิง
          พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
          มาตรา 18 บัญญัติว่า "รายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใด ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ดี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็ดี จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นมิได้ เว้นแต่
          (1) มีพระราชบัญญัติให้โอนหรือนำไปใช้ได้
          (2) ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะมีผลเป็นการจัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่หรือไม่ก็ตาม ให้โอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการที่ถูกโอนหรือรวมเข้าด้วยกันนั้น ไปเป็นของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับโอนหรือที่รวมเข้าด้วยกัน หรือส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว"


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

สาระสำคัญ กฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (44 ข้อ)