ข้อมูลทั่วไปของกรมเจ้าท่า


          ข้อมูลทั่วไปของกรมเจ้าท่า รวบรวมจากเว็บไซต์ กรมเจ้าท่า ประกอบด้วย
          1. ประวัติกรมเจ้าท่า
          2. นโยบายกรมเจ้าท่า
          3. วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม วัฒนธรรม เป้าประสงค์ และเป้าหมาย
          4. ยุทธศาสตร์ของกรมเจ้าท่า-กลยุทธ์
          5. ผู้บริหาร และโครงสร้างการบริหาร


*****************

1. ประวัติกรมเจ้าท่า  
          ประเทศไทย ติดต่อค้าขายกับต่างชาติมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมัยนั้นมิได้เรียก "กรมเจ้าท่า" อย่างเช่นปัจจุบัน เรียก เจ้าภาษีบ้าง นายด่านบ้างและนายขนอมตลาดบ้าง ซึ่งทั้งหมดทำหน้าที่บังคับการจอดสมอเรือค้าขาย เก็บค่าธรรมเนียมเรือค้าขายที่เข้าและออกราชอาณาจักร โดยอยู่ในความปกครอง บังคับบัญชาของกรมพระคลัง
          ส่วนคำว่า "กรมท่า" แต่เดิมคงหมายถึง เจ้าท่าตามระบบเก่า หากแต่มีความหมายกว้างขวางออกไปอีก กรมท่าเป็นส่วนราชการที่มีแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา 
          เจ้าท่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างชาติ สเปน ฮอลันดา ญี่ปุ่น อังกฤษ เดนมาร์ก และฝรั่งเศสเข้ามาติดต่อค้าขายตามลำดับ การค้าขายกับต่างชาติอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระคลังสินค้า ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยพระเจ้าประสาททอง เป็นหน่วยงานหลวง เพื่อผูกขาดสินค้าบางอย่างเป็นสินค้าต้องห้าม ไม่ให้พ่อค้าประชาชนซื้อขายโดยตรง นอกจากผูกขาดซื้อขายสินค้าแล้ว พระคลังสินค้ายังมีหน้าที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าต่างชาติ ค่าภาษีสินค้าและค่าธรรมเนียมเข้าออก
          ตามประวัติศาสตร์ คำว่า "เจ้าท่า" มีมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในรัชกาลพระองค์ การค้าขายทางเรือกับต่างชาติปรากฏว่า รุ่งเรืองยิ่งกว่าสมัยใดๆ ในยุคนั้น คำว่า "เจ้าท่า" สันนิษฐานว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเรียกว่าเจ้าท่าว่า "Shah Bardar" 
          เจ้าท่าสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งเจ้าท่าเพื่อดูแลตรวจตราบรรดาเรือแพ และเก็บค่าธรรมเนียมเรือค้าขายหรือเรือที่เข้าออกประเทศไทย 
          เจ้าท่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่เกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่น เจษฎาบดินทร์ ได้ว่าการกรมท่า และได้ทรงจัดการคลังของประเทศให้มีรายได้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่กาลก่อน 
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลอังกฤษขอเปลี่ยนแปลงสัญญาทางการค้า โดยให้ฝ่ายไทยเลิกจังกอบระวางปากเรือ เปลี่ยนมาเก็บภาษีขาเข้าร้อยละ 3 และอังกฤษสามารถซื้อขายสินค้ากับราษฎรได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพระคลังสินค้า ไทยต้องยินยอมทำสัญญา 
          ต่อมาชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน สวีเดน นอรเวย์ เบลเยี่ยม อิตาลี ออสเตรีย อังการี สเปน รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็มาขอแก้สัญญาทางการค้า เช่นกัน 
          นับแต่ทำสัญญาดังกล่าวกิจการของกรมท่าก็เพิ่มพูนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมท่าได้จัดงานใหม่ เป็น 3 ฝ่ายเรียกว่า กรมท่ากลาง กรมท่าซ้าย และกรมท่าขวา 

          กรมท่ากลางดูแลกิจการทั่วไปกับติดต่อคนแขก เมื่อจำเป็นต้องปรับปรุงการฝ่ายเจ้าท่า ให้เหมาะสมกับความเจริญของประเทศทางการจึงได้ว่าจ้างกัปตัน จอห์น บุช (John bush) ชาวอังกฤษมาริเริ่มงานคนสมัยก่อนเรียกท่านว่า "ทับประมาสะแตน" มาจากคำ HARBOUR MASTOR ซึ่งหมายถึง เจ้าท่า ท่านได้ปฏิบัติราชการมีความชอบจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสูตรสาครดิษฐ
          ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือใหม่ 10 มาตรา เรือเล็ก 7 มาตรา แพ โพงพาง และของลอยน้ำ 3 มาตรา ทางบก 4 มาตรา รวม 24 มาตรา กฎหมายดังกล่าวนิยมเรียก "กฎหมายท้องน้ำ" สมัยกัปตัน บุช เป็นเจ้าท่า ตำแหน่งเจ้าท่าขึ้นอยู่ในกรมพระคลัง ต่อมาย้ายสังกัดอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีชื่อว่า "กรมท่า" (Kromata) พ.ศ. 2432 ย้ายไปอยู่กระทรวงโยธาธิการ ครั้นพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ชราภาพ ได้กราบถวายบังคับลาออกจากราชการ กัปตัน เอ. อาร์. วิล เป็นเจ้าท่าสืบแทน ต่อมา เมื่อกัปตันวิล ถึงแก่กรรม ใน พ.ศ. 2438 ได้ยุบตำแหน่งเจ้าท่าลงเป็นตำแหน่งเวรท่ามีนาย โยเกนซัง ชาวเดนมาร์ก เป็นเวรท่า ทำหน้าที่ตรวจตราลำแม่น้ำ 
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการของกรมที่ตึกเจ้าสัวเส็งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างตลาดน้อย ตรงข้ามปากคลองสาน (คือที่ตั้งของกรมเจ้าท่าในปัจจุบัน) ใน พ.ศ. 2439 ทรงยกฐานะเวรท่าเป็น กรมเจ้าท่าและทรงแต่งตั้ง ม.ร.ว. พิณ สนิทวงศ์ เป็นเจ้ากรมเจ้าท่า พ.ศ. 2444 ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่าไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล พ.ศ. 2448 กรมเจ้าท่าได้ยกฐานะเป็นกรมชั้นอธิบดี และ ทรงให้ตราพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) และในปีนี้เอง ทรงเริ่มปรับปรุงกิจกรรมกรมเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยยกเอางานบางส่วนจากกรมคลองเดิมมารวมกับกรมเจ้าท่า 
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตราพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ซึ่งกำเนิดมาแต่ต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้วมาแปลเป็นภาษาไทย ในปีนี้เอง ทางราชการได้ยกกระทรวงนครบาลซึ่งกรมเจ้าท่าสังกัดอยู่ไปรวมกับกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2472 ลดฐานะกรมเจ้าท่า จากกรมชั้นอธิบดีเป็นกรมชั้น เจ้ากรม พ.ศ. 2474 ย้ายไปสังกัด สมุหพระนครบาล
ในปี 2475 
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่ามาขึ้นสังกัดในกระทรวงเศรษฐการ และยกฐานะกรมเจ้าท่าจากชั้นเจ้ากรมเป็นกรมชั้นอธิบดี และไม่มีตำแหน่งปลัดกรมอีกต่อไป มีตำแหน่งเลขานุการกรมแทน โดยมีขุนสกลสารารักษ์ (แซ จูพาศรี) ตำแหน่งเลขานุการกรม จนกระทั่งวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 จึงได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นาวาเอก พระชำนาญนาวากล หัวหน้านายช่างตรวจเรือ กรมเจ้าท่า รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่าอีกตำแหน่งหนึ่ง และหลังจากนั้นได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีปรับเปลี่ยนกันเรื่อยมา
          ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ทางราชการได้ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่า ซึ่งเดิมสังกัดอยู่ในกระทรวงเศรษฐการไปสังกัดในกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่าจึงได้ย้ายสังกัดเป็นครั้งสุดท้าย มาขึ้นกับกระทรวงคมนาคมอย่างเช่นปัจจุบัน 
          ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมเจ้าท่า ในกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2495 แบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่าออกเป็นสำนักงานเลขานุการกรม ประกอบด้วย แผนกสารบรรณ แผนกคลัง แผนกสถิติและแผนกยานพาหนะ กองตรวจท่า กองนำร่อง กองตรวจเรือ กองทะเบียนเรือ หน่วยงานภูมิภาค แบ่งเป็น เจ้าท่าภาค เจ้าท่าจังหวัด
          และในปี 2508 ได้มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารราชการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมเฉพาะที่เกี่ยวกับราชการขนส่งทางน้ำ ไปเป็นของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จึงต้องแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในกรมเจ้าท่าเสียใหม่ให้มีกองควบคุมและส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ กองทะเบียนเรือขนส่งทางน้ำ และกองขุดและรักษาร่องน้ำที่รับโอนไปรวมอยู่ด้วย 
          ในขณะนั้นการดำเนินการของกรมเจ้าท่าเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมาย ภายใต้ขอบเขตของพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า พ.ศ. 2508 รวมทั้งนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และปฏิบัติให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 และพระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2497 โดยมีนโยบายหลัก 3 ประการคือ 
          1. ความปลอดภัยในการขนส่ง 
          2. พัฒนาการขนส่งทางน้ำ 
          3. คุ้มครองกรรมสิทธิ์เครื่องอุปกรณ์ในการขนส่งทางน้ำ 
          หลังจากนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่าอีกหลายครั้ง เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพงาน
          ในปี พ.ศ. 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 กำหนดให้มีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีอยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหาร และอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สินงบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกระทรวงคมนาคม เฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนราชการทั้งหมดของกรมเจ้าท่า และบางส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีมาเป็นของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภาระกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง 
          จนกระทั้งปี พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ "กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี" เป็น "กรมเจ้าท่า" อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 8 ตรีแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผนดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการ และเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหน่วยงาน
          วันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ทำสัญญาจ้างกัปตัน จอห์น บุช (John bush) ชาวอังกฤษ  มาเป็นผู้ริเริ่มงานฝ่ายเจ้าท่า มีการลงนามในสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อวัน  8ฯ 9 ค่ำ จุลศักราช 1221 ปีมะแม เอกศก ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2402 กรมเจ้าท่าจึงถือเอาวันที่ 5 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า


*****************

2. นโยบายกรม
          กรมเจ้าท่าได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2560 โดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทยและกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการช่วยรักษาสภาพทางชลศาสตร์ที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง และนโยบายที่สำคัญที่ต้องดำเนินการผลักดัน และขับเคลื่อนให้สามารถสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ โดยคำนึงถึงประชาชนหรือผู้รับบริการ รวมทั้งผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียเป็นหลักทั้งมิติด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร คือ
          1.การบริหารงานบุคคล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินงาน เช่น - การเลื่อนระดับให้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล กระบวนการในการพิจารณามีความชัดเจนโปร่งใส สร้างกลไกการคัดเลือกให้สามารถวัดผลได้ โดยให้คำนึงถึงประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลเป็นสำคัญ
               - เร่งตรวจสอบอัตราว่าง และดำเนินการบรรจุให้เต็ม จัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายงาน (Career Path) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร
               - งานวินัย เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรณีหากไม่มีมูล/ข้อมูลไม่ชัดเจน ให้ยุติ กรณีที่มีมูลความผิดที่ชัดเจน ให้ดำเนินการลงโทษ
               - ให้ อ.ก.พ. กรมเจ้าท่าเป็นกลไกในการบริหารงานบุคคล โดยให้จัดการประชุม 2 เดือนครั้ง
               - การพัฒนาบุคลากร เร่งรัดดำเนินการอบรมให้ความรู้ผู้ทำการในส่วนภูมิภาค ในเรื่องของการออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อป้องกันการดำเนินการผิดขั้นตอน หรือใช้ฐานอำนาจไม่ถูกต้อง
          2.การบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ มีแนวทางดำเนินการ เช่น
               - การมอบอำนาจในการจัดซื้อ-จัดจ้าง เพื่อให้ความคล่องตัวเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายให้ทุกหน่วยดำเนินการให้ถูกต้องมีความโปร่งใสให้หารือร่วมกับกองคลัง และฝ่ายพัสดุ
               - ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างอยู่ (งบประมาณ 2559-2560) และทุกหน่วยงานที่มีงบลงทุน งบประมาณ 2561 ให้เร่งรัดดำเนินการและผูกพันสัญญาให้ได้ภายใน 31 ธันวาคม 2560
               - เงินกองทุน, เงินนอกงบประมาณ ให้พิจารณากำหนดเกณฑ์และกลไกในการเบิกจ่าย อาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมเจ้าท่าหรือรองอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกองคลังเป็นกรรมการ เพื่อร่วมพิจารณาการเบิกจ่าย สำหรับการใช้เงินนอกงบประมาณ เขต/สาขาที่มีความจำเป็นต้องใช้ ให้เขียนโครงการนำเสนอมา และให้มีการประชุมพิจารณากันเป็นระยะ โดยอาจกำหนดให้มีการประชุมทุก 2 เดือน
               - การจ้างพนักงานให้เขต/สาขา มอบกองคลังพิจารณาโอนงบประมาณค่าใช้สอบให้กับสำนักงาน เจ้าท่าภูมิภาคที่มีการจ้างเหมาบริการเอกชน
          3.การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางน้ำในส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากดำเนินการตามภารกิจแล้วต้องมีการติดตามข่าวสารที่อาจส่งผลส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินเรือหรือสัญจรทางน้ำ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยมีแนวทางการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลในด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย การควบคุมเรือ การแจ้งเตือนน้ำขึ้น-ลง และต้องมีระบบแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ ตลอดจนการรายงานให้ผู้บริหารทราบด้วย
          4.การบริหารจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในส่วนกลางและภูมิภาคต้องกำกับดูแลและพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 และที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีคู่มือหรือหลักเกณฑ์ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ชัดเจน เช่น การอนุญาตก่อสร้างท่าเรือต้องพิจารณาทั้งในส่วนของขนาดเรือที่จะเทียบท่าและตัวท่าเรือให้สอดคล้องกันด้วย ในส่วนของฐานข้อมูลให้นำข้อมูลของกองสำรวจและสร้างแผนที่มาใช้ประโยชน์
          5.การดำเนินงานตาม IUU (Illegal, Unreported and Unregulated) โดยการกำกับดูแลการขนส่งทางน้ำเพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการดำเนินงานเกี่ยวกับการประมงผิดกฎหมาย ให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยทำให้วิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาการปฏิบัติงานของกรม เพื่อให้มีการใช้กฎหมายอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยต้องจัดเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและการจัดหา ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ในการใช้เพื่อกำกับดูแลเฝ้าระวังเรือเข้ามาในน่านน้ำไทย
          6.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ยังคงดำเนินการตามแผนต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล รวมถึงการผลักดันให้มีการเปิดเส้นทางการเดินเรือ Ferry ใหม่ ทั้งนี้การพัฒนาใดๆ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้มีการประสานงานกับจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคทีไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น กรณีหลักไฟที่ไม่สามารถติดตั้งได้ เป็นต้น
          7.การผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวี และกิจการพาณิชยนาวีให้รักษามาตรฐานการเรียน/การสอนให้ดี และให้กำกับหลักสูตรต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี
          8.การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินของ IMO ในปี 2564 เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศสมาชิกของ IMO มีการปฏิบัติตามตราสารและข้อกำหนดของตราสารของ IMO ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องและบรรลุผลสำเร็จทั่วโลกอันเป็นมาตรการหนึ่งในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางทะเลและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มอบสำนักมาตรฐานเรือเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
          9.ให้ความสำคัญกับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One stop service) และการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-services ) โดยเฉพาะในปี 2561 กำหนดให้กระบวนงานของสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือเป็นโครงการนำร่อง และจะนำเสนอสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อขอรับรางวัลด้วย
          10.การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้เร่งรัดกฎหมายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยดำเนินการในรูปของคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายเพื่อร่วมกันพิจารณาผลกระทบในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุม
          11.เรื่องอื่นๆ ได้แก่ การประชุมต่างๆ ควรจัดทำข้อมูลให้พร้อม สรุปประเด็นให้ชัดเจน หากมีหน่วยงานภายนอกร่วมประชุม ควรมีป้ายชื่อและขอให้ดูแล ต้อนรับ และอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของกรม


*****************

3. วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม วัฒนธรรม เป้าประสงค์ และเป้าหมาย
วิสัยทัศน์
          “พัฒนาระบบขนส่งทางน้ำอย่างบูรณาการให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ”

พันธกิจ
          กำกับดูแล การส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
          1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันเรือโดนกัน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี กฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
          2. ศึกษาและวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ
          3. ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี
          4. ดำเนินการจัดระเบียบการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี
          5. ร่วมมือและประสานงานกับองค์การและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในด้านการขนส่งทางน้ำ การพาณิชยนาวี และในส่วนที่เกี่ยวกับอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศ
          6. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ค่านิยมองค์กร
          ค่านิยมของกรมเจ้าท่า คือ STEPSS ได้แก่
          1. มีใจให้บริการ (Service Mind)
          2. ทำงานเป็นทีม (Teamwork)
          3. มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Efficiency)
          4. ทำงานแบบมืออาชีพ (Professional)
          5. ตระหนักความปลอดภัย (Safety)
          6. มีใจใฝ่รู้ (Seek Learning)

วัฒนธรรมองค์กร
         แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ร่วมมือ ร่วมแรง แข็งขันทำงาน

เป้าประสงค์ของกรมเจ้าท่า
          1. มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน
          2. ระบบการขนส่งทางน้ำมีมาตรฐานและมีการกำกับดูแลให้มีความปลอดภัย และมั่นคง
          3. ระบบขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมีประสิทธิภาพ
          4. มีระบบที่สนับสนุนให้มีการบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ

เป้าหมายการให้บริการกรมเจ้าท่า
          1. พัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและบริการ มีความสะดวกและปลอดภัย
          2. กำกับ ดูแล และให้บริการเพื่อให้เกิดความสะดวก และปลอดภัย
          3. ผลิตและพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับกิจการพาณิชยนาวี
          4. กำกับดูแลการขนส่งทางน้ำเพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและค้ามนุษย์
          5. มีกลไกที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนได้


*****************

4. ยุทธศาสตร์ของกรมเจ้าท่า-กลยุทธ์
          1. พัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำตามธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ
          กลยุทธ์  
          - พัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ
          2. การยกระดับความปลอดภัย และความมั่นคงด้านการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี
          กลยุทธ์
          - กำหนดมาตรการในการกำกับ ควบคุม ดูแล จัดทำระบบรองรับการปฏิบัติการและการให้บริการด้านความปลอดภัยทางน้ำ สร้างข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับบังคับใช้กับเรือ คนประจำเรือ และโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ
          - ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำรวมทั้งระบบมาตรฐานและกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
          3. การพัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
          กลยุทธ์
          - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการพาณิชยนาวีและที่เกี่ยวเนื่อง
          - พัฒนามาตรฐานหลักสูตร บุคลากรและจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ เพื่อการผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวี
          4. การส่งเสริม สนับสนุนความสามารถในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
          กลยุทธ์
          - ปรับปรุงและพัฒนาระบบกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป
          - ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารองค์กรอย่างต่อเนื่อง
          - พัฒนาทรัพยากรบุคคล
          - ส่งเสริมและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลและความโปร่งใส


*****************

5. ผู้บริหาร และโครงสร้างการบริหาร
          นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (ตั้งแต่ 1ต.ค.2561 เป็นต้นไป)
          นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ
          นายกริชเพชร ชัยช่วย รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ  และผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) ประจำกรมเจ้าท่า
          นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ

          ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2558 ให้แบ่งส่วนราชการกรมเจ้าท่า ดังต่อไปนี้ 
          1. สำนักงานเลขานุการกรม
          2. กองกำกับการพาณิชยนาวี
          3. กองคลัง
          4. กองมาตรฐานคนประจำเรือ
          5. กองวิศวกรรม
          6. กองส่งเสริมการพาณิชยนาวี
          7. กองสำรวจและแผนที่
          8. ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี
          9. สำนักกฎหมาย
          10. สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ
          11. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1
          12. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2
          13. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3
          14. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4
          15. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5
          16. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6
          17. สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7
          18. สำนักนำร่อง
          19. สำนักแผนงาน
          20. สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ
          21. สำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ
          22. สำนักมาตรฐานเรือ
          23. กลุ่มตรวจสอบภายใน
          24. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร


*****************

#นักเรียนกฎหมาย
6 ตุลาคม 2561


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)