สรุปคำบรรยาย กฎหมายล้มละลาย (ครั้งที่ 5)


สรุปคำบรรยาย
วิชากฎหมายล้มละลาย LAW3010
ครั้งที่ 5 :: วันที่ 22 เมษายน 2562 ภาคเรียน summer/2561
บรรยายโดยท่านอาจารย์นันทรัตน์ เตชะมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


คราวนี้เราจะมาดูมาตรา 45 แบบจริงจัง
การประนอมหนี้ก่อนละล้มละลาย
   มาตรา 45 เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
   คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
   (1) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
   (2) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
   (3) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
   (4) กำหนดเวลาชำระหนี้
   (5) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
   (6) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
   ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
   ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่
   - ลูกหนี้ยื่นขอประนอมหนี้หรือไม่ก็ได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดเป็นหน้าที่
   - ขอก่อนศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย หรือ ขอภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงตามมาตรา 30 (2)
   - คำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ขอได้เพียงครั้งเดียว

คำถาม มติพิเศษเห็นชอบให้ประนอมหนี้ จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดหรือไม่
คำตอบ คือ มาตรา 46 และมาตรา 56
   มาตรา 46 การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว
   มาตรา 56 การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้
   - มาตรา 46 ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมด จนกว่าศาลจะเห็นชอบด้วย
   - มาตรา 56 หลักทั่วไป จะผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ (มติพิเศษยอมรับ และศาลเห็นชอบ ก็จะผูกมัดเจ้าหนี้ที่มีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้)
      -- คำว่า "หนี้ที่อาจขอรับชำระได้" ให้ดูวันที่มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์*** เนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด ลูกหนี้ได้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองแล้ว ทำนิติกรรมสัญญาไม่ได้ นิติกรรมที่ทำขึ้นเป็นโมฆะ จะนำหนี้ที่เป็นโมฆะ มาขอรับชำระหนี้ไม่ได้
      -- มูลหนี้เกิดตอนเช้า ลูกหนี้ทำนิติกรรมสมบูรณ์ ต่อมาช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถือว่ามูลหนี้ไม่ได้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่มูลหนี้เกิดในวันเดียวกับที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
      -- เจ้าหนี้คนที่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ มีเงื่อนไข 2 ข้อ
         1) มีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้
         2) ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
         ***ถ้ามีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ ผูกมัดเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ ไม่ได้ดูว่าจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ ดูเพียงว่า ต้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ คือ การประนอมหนี้จะผูกมัดเจ้าหนี้หรือไม่ ต้องดูว่าเจ้าหนี้คนนั้นมีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้หรือไม่
      -- เมื่อประนอมหนี้สำเร็จ หนี้เดิมเป็นอันระงับไป ทำให้เกิดหนี้ใหม่จากการประนอมหนี้ เช่น เดิมหนี้ 2 ล้านบาท ขอประนอมหนี้ 1.2 ล้านบาท ถ้ามติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบ การประนอมหนี้ผูกมัดเจ้าหนี้ 1.2 ล้านบาท
      -- คำว่า "หนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้" คือ หนี้ตามมาตรา 77 (แม้ศาลจะปลดจากล้มละลายแล้ว ก็ไม่หลุดพ้น) คือ
         1) หนี้ภาษีอากร ไม่หลุดพ้น
         2) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้
         --- เจ้าหนี้ตามมาตรา 77 เมื่อไม่ต้องผูกมัดจากมติพิเศษที่ประนอมหนี้ เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม เว้นแต่เจ้าหนี้ได้เข้าประชุมและยกมือยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

สรุป ผลของคำสั่งเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้
   1. คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ผูกมัดเจ้าหนี้ทุกคน ถ้าเจ้าหนี้คนนั้นมีหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ แต่คำขอประนอมหนี้ที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ จะไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ตามมาตรา 77 เว้นแต่ เจ้าหนี้ตามมาตรา 77 ได้ยินยอมด้วย (มาตรา 56)
   2. ผลต่อบุคคลซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ การประนอมหนี้มีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่หลุดพ้นจากหนี้เดิมมาผูกพันตามคำขอประนอมหนี้ การประนอมหนี้ไม่มีผลถึงบุคคลภายนอก (มาตรา 59) 
      มาตรา 59 การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
      - มาตรา 59 บุคคลภายนอกคดี (ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีล้มละลาย) ไม่ต้องผูกมัดในการประนอมหนี้ บุคคลภายนอกคดียังมีหน้าที่ต้องรับผิดในหนี้เดิม เช่น ก. เป็นหนี้ 2 ล้าน มีนาย ข. ค้ำประกัน 2 ล้าน ต่อมา ก. ถูกฟ้องในคดีล้มละลาย (ข. ไม่ถูกฟ้อง) ก.ขอประนอมหนี้ เหลือ 1.2 ล้าน มติพิเศษยอมรับและศาลเห็นชอบ 1.2 ล้าน ก. ลูกหนี้ ผูกพันในหนี้ใหม่ต่อเจ้าหนี้เพียง 1.2 ล้าน การประนอมหนี้ 1.2 ล้าน ไม่ผูกพัน ข. บุคคลภายนอกคดี หนี้ที่เหลืออีก 8 แสน ข. ผู้ค้ำประกัน มีหน้าที่ต้องรับผิดอยู่ (ค้ำประกันหนี้จำนวนไหน ต้องรับผิดจำนวนนั้น)
   3. ลูกหนี้กลับมามีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเองได้เท่าที่ไม่ขัดกับเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้ในคำขอประนอมหนี้
      - เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้ มีผลทำให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสิ้นผลไปทันที ลูกหนี้จึงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน จึงสามารถทำนิติกรรมได้ จึงหาเงินมาชำระตามที่ขอประนอมหนี้ได้
   4. ในส่วนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะหมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้

การยกเลิกการประนอมหนี้
   มาตรา 60 ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
   เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
   - เหตุที่ศาลจะยกเลิกการประนอมหนี้
      1. ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้
      2. ไม่ยุติธรรม หรือเนิ่นช้าเกินสมควร เช่น เจ้าหนี้แต่ละคนได้รับชำระไม่เท่ากันจึงมาขอให้ศาลยกเลิกการประนอมหนี้ เนื่องจากการประชุมเจ้าหนี้ เจ้าหนี้รายนี้คะแนนเสียงแต่แพ้โหวตและไม่ยุติธรรม
      3. ศาลถูกหลอกลวงทุจริต

ผลของการยกเลิกการประนอมหนี้
   1. เรื่องความรับผิดของลูกหนี้ ลูกหนี้จะต้องกลับไปชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม ลูกหนี้จะอาศัยประโยชน์จากข้อตกลงในการประนอมหนี้อีกไม่ได้ เช่น ลูกหนี้ประนอมหนี้แล้ว จ่ายได้เพียงบางส่วน ถือว่าผิดนัดไม่ชำระหนี้ ถูกยกเลิกการประนอมหนี้ ลูกหนี้จะต้องกลับไปชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิม
   2. การยกเลิกการประนอมหนี้ ไม่กระทบถึงการกระทำใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย
   3. ทำให้ผู้ค้ำประกันการประนอมหนี้หลุดพ้นจากความรับผิด 
   4. เมื่อมีการยกเลิกการประนอมหนี้ ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น กฎหมายไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 61)

บุคคลล้มละลายจะหลุดพ้นจากการล้มละลาย (อาจารย์ภัทรวรรณ จะสอนต่อไป)
   1. ประนอมหนี้หลังล้มละลาย มาตรา 63
   2. ปลดจากล้มละลาย 
      - ตามคำสั่งศาล มาตรา 71
      - อัตโนมัติ มาตรา 81/1
   3. ยกเลิกการล้มละลาย มาตรา 135
         
***ขอบเขตสอบ ในส่วนของอาจารย์จะออกข้อสอบ 2 ข้อ แต่อาจารย์จะให้ขอบเขตประมาณ 4 ข้อ อาจารย์จะเลือกมาออก 2 ข้อ 
   1. มาตรา 8 (8) , (9) , มาตรา 9 มาตรา 10 
ดูข้อเท็จจริงว่าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ เป็นเจ้าหนี้มีประกัน (มาตรา 8 , 9 , 10) หรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน (มาตรา 8 , 9)
   2. มาตรา 15
   3. มาตรา 19 ท่องทั้ง 3 วรรค ไม่รู้อาจารย์จะออกวรรคไหน
   4. มาตรา 31 , 33 , 36
ดูว่ามติชอบหรือไม่ชอบ
ครั้งหน้าเรียนกับอาจารย์ภัทรวรรณ


---จบคำบรรยาย ครั้งที่ 5---
#นักเรียนกฎหมาย
24 เมษายน 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (ชุดที่ 1)