อนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา จะสามารถเข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นในฐานะอนุกรรมการได้อีกหรือไม่


   สำนักงาน ก.ค.ศ. หารือว่า กรณีที่กรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ได้เข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นในการประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ในฐานะอนุกรรมการนั้น มีสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง หรือไม่

   คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้การย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องได้รับอนุมัติจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

   ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การย้ายดังกล่าว โดยกำหนดให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการส่วนหนึ่งมาจากอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ตามที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มอบหมายที่ไม่มีส่วนได้เสียกับการย้าย จำนวน 3 คน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาคำร้องขอย้าย และจัดลำดับความเหมาะสม ก่อนเสนอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ต้องนำความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย และความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษามาประกอบการพิจารณาการย้าย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ

   ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย ของอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรองคำร้องขอย้ายและประเมินศักยภาพของผู้ประสงค์ขอย้ายในเบื้องต้น แล้วเสนอความเห็นให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณา โดยความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย มิได้มีผลผูกพัน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แต่ประการใด

   นอกจากนี้ โดยเหตุที่การไปปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง เป็นการไปปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด มิได้เป็นเหตุทำให้ความเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา สิ้นสุดลง หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา อีกต่อไป ดังนั้น อนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย จึงยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ต่อไปได้

   กรณีตามข้อหารือ จึงไม่ใช่เรื่องสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษาไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 

   อนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย จึงสามารถเข้าร่วมประชุมและให้ความเห็นในการประชุม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ในฐานะอนุกรรมการได้

อ้างอิง
ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 140/2562 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
3 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (20 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 2)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ การลาของข้าราชการ (ชุดที่ 1)