ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครอง และการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง


กฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. 2562 ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 136 ก/หน้า 4/11 ธันวาคม 2562 กำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครอง และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองเพื่อดำเนินการยึด อายัด และขายทอดตลาด ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอย่างน้อยหนึ่งคนจะต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ และผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดีหรือด้านการบังคับทางปกครอง เว้นแต่ในวาระเริ่มแรก 1 ปี จะแต่งตั้งผู้ที่ไม่ผ่านการอบรมดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองก็ได้ ดังรายละเอียดตามกฎกระทรวง

   ข้อ 1 การออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้
   (1) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หรือปลัดทบวง ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง หรือสำนักงานปลัดทบวง แล้วแต่กรณี
   (2) อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม แล้วแต่กรณี
   (3) ผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัด
   (4) ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ
   (5) ผู้บริหารหน่วยงานอื่นของรัฐ ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ
   (6) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือนายกเมืองพัทยา ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง กรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี
   (7) ผู้บริหารท้องถิ่นอื่นนอกจาก (6) โดยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้น
   (8) นายกสภาวิชาชีพ ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นสภาวิชาชีพซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
   (9) หัวหน้าหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการนั้น ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย
   (10) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตาม (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็นเอกชนซึ่งได้รับอนุญาต ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ดังกล่าว

   ข้อ 2 ในกรณีที่รัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามข้อ 1 เป็นผู้ทำคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ให้รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครอง

   ข้อ 3 ให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาซึ่งผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดีหรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ความเห็นชอบ เป็นเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองเพื่อดำเนินการยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน
   ในการดำเนินการยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินแต่ละคำสั่ง ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับทางปกครองหนึ่งคนหรือหลายคนร่วมเป็นเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองก็ได้
   ในกรณีที่มีการมอบหมายเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองตามวรรคสองเพียงหนึ่งคน บุคคลดังกล่าวต้องสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ แต่กรณีที่มีการมอบหมายเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองหลายคน ในการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินต้องมีเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองอย่างน้อยหนึ่งคนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางนิติศาสตร์

   ข้อ 4 ในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือนายกสภาวิชาชีพ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง โดยให้นำแบบบัตรและหลักเกณฑ์ในการออกบัตรตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐมาใช้บังคับโดยอนุโลม

   ข้อ 5 กรณีที่กฎหมายใดกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองหรือหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ใช้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าการใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นจะเกิดผลน้อยกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้หลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงนี้แทนก็ได้

   ข้อ 6 บรรดาคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยวิธีการยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้อยู่ใต้บังคับของคำสั่งทางปกครองที่ได้ออกโดยชอบตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎกระทรวงนี้ และให้ดำเนินการยึดหรืออายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

   ข้อ 7 ในวาระเริ่มแรก ผู้มีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองจะแต่งตั้งผู้ซึ่งไม่ผ่านการอบรมด้านการบังคับคดีจากกรมบังคับคดีหรือด้านการบังคับทางปกครองตามหลักสูตรที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้ความเห็นชอบ เป็นเจ้าพนักงานบังคับทางปกครองก็ได้ โดยเจ้าหน้าที่ดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

อ้างอิง กฎกระทรวงกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองและการแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง พ.ศ. 2562 (คลิกดาวน์โหลดไฟล์)
#นักเรียนกฎหมาย
12 ธันวาคม 2562

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)