คำสั่งลงโทษทางวินัย? ที่มีประธานกรรมการสอบสวนวินัย เป็นอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัย และเป็นอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์


ตัวอย่างคดีปกครองเรื่องนี้ ประธานกรรมการสอบสวนวินัย เป็นอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัย และยังเป็นอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ในขณะเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันเป็นเหตุให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความเป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษทางวินัยและมติให้ยกอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้

คณะกรรมการสอบสวนวินัย โดยมีนาง ส. เป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัย ได้รวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และรายงานต่อนายกเทศมนตรีผู้สั่งแต่งตั้ง ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สมควรลงโทษปลดออกจากราชการ

ต่อมา คณะอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชการ โดยมีนาง ส. เป็นอนุกรรมการด้วย ได้ประชุมและมีมติด้วยเสียงข้างมากให้ปลดออกจากราชการ หลังจากนั้น นายกเทศมนตรีได้รายงานการสอบสวนต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดมีมติให้ลงโทษปลดออกจากราชการ นายกเทศมนตรีจึงได้มีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ

ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และร้องทุกข์ ซึ่งมีนาง ส. เป็นอนุกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่ง ได้ประชุมและมีมติยืนตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่มีมติให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

ศาลปกครองเห็นว่า ขั้นตอนในการสอบสวนดำเนินการทางวินัย เป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่เป็นกรรมการในการดำเนินการทางวินัย จะต้องไม่ใช่บุคคลที่มีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง หรือไม่ชอบตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

เมื่อนาง ส. เป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัย เป็นอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัย และยังเป็นอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ เป็นการต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด ที่กำหนดว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัยและการให้ออกจากราชการ ต้องไม่เป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์

แม้จะเป็นเพียงหนึ่งในคณะอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัย มิได้มีอำนาจตัดสินเด็ดขาดเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ก็ย่อมเห็นได้ว่า การที่ประธานกรรมการสอบสวนวินัยเป็นอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัยอีก จึงเป็นการคาดหมายได้ว่า ย่อมแสดงความเห็นสอดคล้องกับความเห็นเดิมที่ตนได้ให้ไว้ในฐานะประธานกรรมการสอบสวนวินัย และที่สุดแล้วคณะอนุกรรมการพิจารณาดำเนินการทางวินัย และคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ มีมติยืนยันตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัย

จึงถือได้ว่าการพิจารณาทางปกครองของนาง ส. มีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรง อันเป็นเหตุให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งนาง ส. ย่อมเห็นได้อยู่แล้วว่า ตนมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเนื้อหาสาระหลักของเรื่อง ซึ่งผลของการพิจารณาจะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง กรณีย่อมเห็นได้ว่า มติดังกล่าวบกพร่องในสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมิใช่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนนาง ส. ได้ อันจะเป็นบทยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 13 ถึงมาตรา 16 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อการพิจารณาทางปกครองของนาง ส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด นำผลการสอบสวนทางวินัยมาใช้พิจารณาโทษทางวินัย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คำสั่งของนายกเทศมนตรี ที่ลงโทษปลดออกจากราชการตามมติของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดพิจารณาอุทธรณ์ มีมติยกอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ศาลปกครองจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และเมื่อศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ย่อมมีผลทำให้คำสั่งของนายกเทศมนตรี ที่ลงโทษปลดออกจากราชการสิ้นผลไป

ที่มา คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.4/2559

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 1)

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ฉบับเตรียมสอบ)