การยื่นคำคัดค้าน เมื่อเจ้าหน้าที่มีส่วนได้เสียหรือไม่เป็นกลาง


ในการพิจารณาทางปกครอง หรือขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง หากเจ้าหน้าที่มีส่วนได้เสียตามมาตรา 13 หรือมีเหตุอื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามมาตรา 16 เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้ และคู่กรณี (ผู้ยื่นคำขอ ผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง เนื่องจากสิทธิจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง) อาจยื่นคำคัดค้านได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง คือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. คู่กรณีต้องทำคำคัดค้านเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการคัดค้าน โดยต้องระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้ในหนังสือคัดค้านด้วย

2. การยื่นหนังสือคัดค้าน จะต้องยื่นก่อนได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครอง โดยจะยื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับก็ได้

    2.1) การยื่นหนังสือด้วยตนเอง คู่กรณีจะยื่นต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้าน หรือจะยื่นต่อผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น หรือเจ้าหน้าที่สารบรรณ หรือเจ้าหน้าที่คนหนึ่งคนใดในหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดก็ได้

    2.2) การส่งหนังสือทางไปรษณีย์ตอบรับ คู่กรณีอาจจ่าหน้าซองถึงเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้าน หรือจ่าหน้าซองถึงผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ หรือถึงเจ้าหน้าที่สารบรรณ หรือเจ้าหน้าที่คนหนึ่งคนใดในหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดก็ได้

(การคัดค้านต้องคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ส่วนวิธีการยื่นคำคัดค้านอาจยื่นต่อเจ้าหน้าที่อื่นได้)

3. ผู้รับหนังสือคัดค้านดังกล่าว ต้องจัดให้มีการประทับตรารับ และลงทะเบียนรับไว้เป็นหลักฐานในวันที่รับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณ (ส่วนการรับหนังสือที่คู่กรณียื่นด้วยตนเอง ให้ออกใบรับหรือจัดให้ออกใบรับด้วย)

ถ้าผู้รับหนังสือ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้าน ให้ผู้รับหนังสือแจ้งการรับพร้อมหนังสือคัดค้านให้เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้านทราบโดยไม่ชักช้า ภายในวันทำการรุ่งขึ้น

4. เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้านได้รับหนังสือแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้

    4.1) กรณีคัดค้านว่ามีส่วนได้เสีย ให้เจ้าหน้าที่หยุดการพิจารณาเรื่องนั้นไว้ก่อน และส่งหนังสือคัดค้านพร้อมคำชี้แจงไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่ง ภายใน 5 วันทำการ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป

    4.2) กรณีคัดค้านว่ามีเหตุอื่นตามมาตรา 16 หากเห็นว่าตนมีเหตุตามที่ถูกคัดค้าน ก็ให้เจ้าหน้าที่หยุดการพิจารณาเรื่องนั้นไว้ก่อน และส่งหนังสือคัดค้านพร้อมคำชี้แจงไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่ง ภายใน 5 วันทำการ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
    แต่ถ้าเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่ถูกคัดค้าน ทำการพิจารณาเรื่องต่อไปก็ได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป

5. หากผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ไม่มีอำนาจพิจารณาและสั่งการ ให้ผู้บังคับบัญชาผู้นั้น เสนอหนังสือคัดค้านและคำชี้แจงให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจพิจารณาสั่งการเพื่อมีคำสั่งต่อไป

6. ผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ต้องพิจารณาสั่งการโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ไม่เกิน 5 วันทำการ นับแต่วันได้รับหนังสือคัดค้านและคำชี้แจงจากหน้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้าน โดยสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม และสั่งการดังนี้

    6.1) หากเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลเพียงพอ ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกคัดค้าน พ้นจากหน้าที่ในการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้น และสั่งให้เจ้าหน้าที่อื่นซึ่งมีอำนาจพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามกฎหมายอาจเป็นผู้ทำหน้าที่แทนได้ เข้าทำหน้าที่นั้น และแจ้งให้คู่กรณีทราบโดยไม่ชักช้า

    6.2) หากเห็นว่าคำคัดค้านมีเหตุผลไม่เพียงพอ ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งยกคำคัดค้าน และแจ้งให้คู่กรณีทราบโดยไม่ชักช้า

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาสั่งการของผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ไม่ตัดอำนาจผู้บังคับบัญชาในระดับที่สูงกว่าที่จะพิจารณาสั่งการในเรื่องนั้น

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

กฎกระทรวงกำหนดกรณีอื่นที่เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ พ.ศ. 2566

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)