การปลดหนี้


การปลดหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ ว่าจะสละสิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นการทำให้เปล่าไม่คิดค่าตอบแทน มีผลทำให้หนี้นั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป" และการปลดหนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ เพียงแค่ลูกหนี้ได้รับการแสดงเจตนาจากเจ้าหนี้ที่จะปลดหนี้ให้ก็พอแล้ว 

อย่างไรก็ตาม หากหนี้นั้น เป็นหนี้ที่มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ หรือเวนคืนเอกสารหลักฐานแห่งหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสาร ตามมาตรา 340 วรรคสอง "
ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย" หากปลดหนี้โดยไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด ย่อมตกเป็นโมฆะ

ตัวอย่าง หนี้ที่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ การจะปลดหนี้ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 340 วรรคสอง ด้วย เช่น กู้ยืมเงินไม่เกิน 1,000 บาท แต่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ การปลดหนี้ก็ต้องทำตามมาตรา 340 วรรคสอง จะแสดงเจตนาปลดหนี้ด้วยปากเปล่าไม่ได้

ตัวอย่าง การกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ ถือว่าไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าหนี้จึงไม่อาจฟ้องลูกหนี้ได้ 
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" แต่ในเรื่องการปลดหนี้ เจ้าหนี้ก็ทำได้โดยแสดงเจตนาปลดหนี้ด้วยปากเปล่าก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องทำตามมาตรา 340 วรรคสอง

แต่สำหรับ การปลดหนี้จำนอง กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ตามมาตรา 746 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือ และไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย จึงจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ (แต่สำหรับเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เมื่อปลดหนี้โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้จดทะเบียน ก็สามารถใช้ยันกันเองได้)

ผลของการปลดหนี้ หากเป็นการปลดหนี้ให้ทั้งหมด หนี้นั้นย่อมระงับสิ้นไป รวมทั้งหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ระงับไปด้วย เช่น การปลดหนี้เงินกู้ การจำนอง จำนำประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ย่อมระงับไปด้วย หรือการปลดหนี้ให้ลูกหนี้ ก็มีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย แต่หากเป็นการปลดหนี้เพียงบางส่วน เฉพาะหนี้ส่วนที่ปลดให้เท่านั้นที่ระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2504 การยกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และคืนเงินมัดจำ ไม่ใช่การปลดหนี้ ตามมาตรา 340 และไม่มีกฎหมายบญญัติให้ทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น เพียงแต่มีการแสดงเจตนาต่อกันก็สมบูรณ์แล้ว (มาตรา 386)

คำพิพากษาฎีกาที่ 635/2522 การประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย ไม่ใช่ปลดหนี้ มีผลเฉพาะเจ้าหนี้และลูกหนี้ในคดีนั้นเท่านั้น ไม่มีผลไปถึงลูกหนี้คนอื่นในคดีอื่นที่เป็นลูกหนี้ร่วมกันด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ที่มา
- อาจารย์ประโมทย์ จารุนิล. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2562 (หน้า 242 - 245)

- ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา

- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

   มาตรา 340 "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
   ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"

   มาตรา 653 วรรคแรก "การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่"

   มาตรา 746 "การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใด ๆ สิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้อย่างใด ๆ ก็ดี การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำขอร้องของผู้มีส่วนได้เสีย มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก"

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)

แนวข้อสอบ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 (20 ข้อ)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562