ข้าราชการถูกไล่ออกจากราชการ จะอาศัยผลแห่งคดีอาญาที่เป็นคุณ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออก ได้หรือไม่


ข้าราชการที่ถูกฟ้องคดีอาญา และถูกดำเนินการทางวินัยควบคู่กันไปด้วย จนกระบวนการทางวินัยเสร็จสิ้น ให้ลงโทษไล่ออกจากราชการ หากต่อมาผลคดีอาญาศาลพิพากษายกฟ้อง โดยข้อเท็จจริงไม่พอรับฟังได้ว่าข้าราชการดังกล่าวกระทำความผิดทางอาญา ข้าราชการผู้นี้จะขอให้หน่วยงานเพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งไล่ออกจากราชการ ได้หรือไม่

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ นาย ป. ข้าราชการ กรมที่ดิน ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล เป็นเหตุให้กรมที่ดินดำเนินการทางวินัยนาย ป. และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ต่อมานาย ป.ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ซึ่งผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาสั่งการให้ยกอุทธรณ์ จากนั้นนาย ป. จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษและคำสั่งยกอุทธรณ์ ซึ่งคดีปกครองถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้อง (คำสั่งลงโทษไล่ออกชอบด้วยกฎหมายแล้ว)

ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำสืบยังไม่พอรับฟังได้ว่านาย ป. กระทำความผิดทางอาญา นาย ป. จึงได้ร้องขอให้กรมที่ดินเบิกจ่ายเงินเดือน ในระหว่างที่ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจนถึงวันเกษียณอายุราชการ รวมทั้งเงินบำเหน็จด้วยเหตุเกษียณอายุราชการ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง แสดงว่าตนไม่ได้กระทำผิด การลงโทษไล่ออกจากราชการจึงขัดต่อคำพิพากษาศาลฎีกา กรมที่ดินจึงได้หารือต่อสำนักงาน ก.พ.

สำนักงาน ก.พ. มีความเห็นว่า การดำเนินการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัย กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนได้กำหนดอำนาจหน้าที่และวิธีการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา การสอบสวนพิจารณาทางวินัยไม่จำเป็นที่จะต้องรอฟังผลคดีอาญา แม้ภายหลังศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ได้ทำให้การพิจารณาดำเนินการทางวินัยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี โดยที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 54 บัญญัติว่า "เมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์...ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ....การยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ ต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่ผู้นั้นได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้" ดังนั้น หากผู้ถูกลงโทษเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นมาที่อาจทำให้ผลการพิจารณามีการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ผู้ถูกลงโทษก็อาจมีคำขอเพื่อให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

จากคำตอบข้อหารือของสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว จึงสรุปหลักกฎหมายและแนวทางปฏิบัติงานได้ว่า กฎหมายระเบียบข้าราชการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้เป็นการเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องรอฟังผลคดีอาญา และผลคดีอาญาไม่กระทบต่อการพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้าราชการดังกล่าวอาจขอให้พิจารณาทางปกครองใหม่ได้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รู้เหตุนั้น

ที่มา / ดาวน์โหลดไฟล์ หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1011/ล 245 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 เรื่อง หารือเกี่ยวกับผลแห่งคดีอาญา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมประจำสัปดาห์

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 1)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ พนักงานราชการ

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 (55 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

การส่งเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (30 ข้อ)

แนวข้อสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ชุดที่ 2)

สาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 (ฉบับเตรียมสอบ)

แนวข้อสอบ ระเบียบฯ สารบรรณ (ชุดที่ 3)